กรมส่งเสริมการเกษตรจัด Kick Off โครงการพัฒนาพื้นที่โครงการหลวง สร้างการรับรู้เทคโนโลยีการเกษตรบนพื้นที่สูง
นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้มอบหมายให้ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดเชียงใหม่ (เกษตรที่สูง) จัด Kick Off กิจกรรม “สร้างการรับรู้เทคโนโลยีการเกษตรบนพื้นที่สูง” ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่โครงการหลวง เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ (เกษตรที่สูง) ศูนย์ฯย่อยวัดจันทร์ ตำบลวัดจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมการสร้างการรับรู้เทคโนโลยีการเกษตรบนพื้นที่สูง โดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (เกษตรที่สูง) ทั้ง 8 ศูนย์
ซึ่งได้นำเทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตรที่ประสบความสำเร็จมาจัดแสดงและเผยแพร่ให้แก่เกษตรกรผู้มาร่วมงาน ประกอบด้วย เทคนิคการปลูกอะโวคาโดบนพื้นที่ราบ การนำนวัตกรรมมาพัฒนาการผลิตอะโวคาโด การเพิ่มคุณภาพและมูลค่าผลผลิตอะโวคาโด การผลิตน้ำมันจากอะโวคาโด การผลิตกาแฟโรบัสต้าครบวงจร การผลิตมะคาเดเมีย ระบบการให้น้ำพืชทางการเกษตร และระบบการให้น้ำแบบใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar cells) รวมถึงมีการจัดแสดงนิทรรศการของหน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วมด้วย ทั้งนี้ มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมงานมากกว่า 150 คน และได้รับความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตที่ประสบความสำเร็จของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (เกษตรที่สูง) และสามารถนำความรู้เทคโนโลยีการเกษตรบนพื้นที่สูงไปใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ของตนเองได้ อันจะเกิดประโยชน์แก่ตัวเกษตรกร และความยั่งยืนในอาชีพการเกษตรบนพื้นที่สูงต่อไป
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2566 กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่โครงการหลวง ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนการดำเนินงานมูลนิธิโครงการหลวง ตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพื้นที่โครงการหลวง ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน พะเยา และจังหวัดตาก ครอบคลุมพื้นที่ดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 39 แห่ง ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพื้นที่โครงการหลวง ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกพืชเสพติด การบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า การทำไร่เลื่อนลอย การทำลายแหล่งต้นน้ำลำธาร ลดการใช้สารเคมีป้องกันกําจัดศัตรูพืชบนพื้นที่สูง เกษตรกรสามารถน้อมนําแนวพระราชดำริไปปฏิบัติและได้ผลจริง ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรบนพื้นที่สูงให้เหมาะสมตามศักยภาพของพื้นที่ และสามารถนำมาปรับใช้ทำการเกษตรในพื้นที่ของตนเองได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้เกษตรกรมีอาหารบริโภคในครัวเรือนอย่างเพียงพอ ลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนําไปสู่ความมั่นคงด้านอาหารและความมั่นคงของประเทศ
ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานร่วมบูรณาการในการส่งเสริมการเกษตรให้แก่เกษตรกร โดยนำเอาเทคโนโลยีจากโครงการหลวงที่ประสบผลสำเร็จหรือจากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (เกษตรที่สูง) ไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกร ซึ่งเป็นการขยายผลไปสู่พื้นที่สูงอื่น ๆ ด้วยวิธีการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิตด้านการเกษตรที่เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่และชุมชน การนำเกษตรกรไปทัศนศึกษาดูงาน รวมทั้งสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่จำเป็นให้แก่เกษตรกร