.
กรมชลประทาน เดินหน้าจ้างแรงงานชลประทาน ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยอดทะลุกว่า 40,000 คนแล้ว หวังสร้างรายได้ทดแทนและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรและประชาชนในช่วงฤดูแล้งนี้
.
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงความก้าวหน้าโครงการจ้างแรงงานชลประทาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ว่า กรมชลประทาน ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยการดำเนินโครงการจ้างแรงงานชลประทานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยการปฏิบัติงานด้าน งานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน โครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ งานก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน/ชนบท แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำ และโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ
สำหรับหลักเกณฑ์การจ้างแรงงาน จะพิจารณาจ้างแรงงานตามลำดับ ได้แก่ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรหรือเกษตรกรในพื้นที่ สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทานในพื้นที่ ประชาชนและผู้ใช้แรงงานทั่วไปในพื้นที่ หากแรงงานที่ต้องการในพื้นที่เป้าหมายมีไม่เพียงพอจะพิจารณาจ้างเกษตรกรหรือแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียงตามลำดับ
.
ปัจจุบันมีการจ้างแรงงานไปแล้ว 42,182 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของแผนฯ โดยจังหวัดที่มีผลการจ้างแรงงานมากที่สุด 3 ลำดับ คือ จังหวัดอุบลราชธานี 3,725 คน จังหวัดนครพนม 2,314 คน และจังหวัดนครราชสีมา 2,224 คน
.
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังคงเดินหน้ารับสมัครจ้างแรงงานอย่างต่อเนื่องให้ได้ตามเป้า 86,000 คน จึงขอเชิญชวนเกษตรกรหรือประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ โดยสามารถติดต่อสอบถามหรือสมัครได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือทางสายด่วนกรมชลประทาน 1460
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่ากรมชลประทาน ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ในการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนทั่วประเทศ ด้วยการดำเนินโครงการ จ้างแรงงานชลประทาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ปีงบประมาณ 2566 ปฏิบัติงานครอบคลุมการซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน โครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ งานก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน/ชนบท แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำ รวมทั้งโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำเพื่อให้เกษตรกรทั่วประเทศมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับปีงบประมาณ 2566 นี้ กรมชลประทาน มีแผนจ้างแรงงานได้ประมาณ 86,000 คน วงเงินกว่า 5,336 ล้านบาท ระยะเวลาการจ้างอยู่ระหว่าง 3 – 10 เดือน ค่าจ้างแรงงาน อยู่ระหว่าง 26,100-87,000 บาท/คน (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ้างต่อคน)
ลักษณะงาน และจำนวนที่เปิดรับ ดังนี้
1.งานซ่อมแซม 39,373 คน
2.งานก่อสร้าง 20,156 คน
3.งานปรับปรุง 13,518 คน
4.งานบำรุงรักษา 5,093 คน
5.งานขุดลอก 3,343 คน
6.งานอื่น ๆ 2,520 คน
กรมชลฯ เตรียมรับมือฝนฟ้าคะนอง 15-17 ก.พ. นี้
อีกความเคลื่อนไหว นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อม บุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ ได้แก่ รถแบคโฮ/รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำ รับมือสถานการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน ตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 7 (53/2566) ว่าบริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและจะแผ่มาปกคลุมบริเวณอื่น ๆ ในระยะต่อไป ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนโดยทั่วไป
ประกอบกับช่วงวันที่ 16 – 17 กุมภาพันธ์ 2566 จะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนผ่านภาคเหนือ ทำให้ประเทศไทยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อนึ่ง ในช่วงวันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ 2566 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งาน และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งติดตามการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดและติดตามภาพรวมสถานการณ์น้ำพร้อมทั้งร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งเตือนประชาชนรับมือสถานการณ์น้ำได้อย่างรวดเร็ว