ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า
จากการเปลี่ยนแปลงของโลก สร้างปัญหาให้กับธรรมชาติ ดินเสื่อมโทรม อากาศไม่เหมาะสม ที่ดินไม่เพียงพอ สำหรับใช้ประกอบเกษตรกรรม จึงมีแนวคิด “การทำเกษตรกรรมในเมือง” (Urban Farming) และ “การทำเกษตรกรรมแนวตั้ง” (Vertical Farming) ที่สามารถควบคุมปัจจัยแวดล้อมได้ ใช้พื้นที่น้อย แต่ให้ผลผลิตในจำนวนมหาศาล
แนวคิดนี้มีการนำไปใช้เกือบทุกประเทศทั่วโลก เช่น เยอรมนี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีข้อมูลว่าอเมริกานั้น กำลังวางแผนสร้างฟาร์มแนวตั้งที่ใหญ่ที่สุดในโลกบนรัฐเพนซิลเวเนีย
ประเทศไทยของเราเอง ตอนนี้เริ่มมีโรงงานผลิตพืชและการทำเกษตรแนวดิ่งเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่ในปัจจุบันมีโรงงานผลิตพืชในเชิงพาณิชย์อยู่ประมาณ 5 บริษัท เช่น บารมีพิรุณ Plant Factory ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย ซึ่งทั้ง 5 แห่งนี้มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ต่างกันในการดำเนินการเพาะปลูก อย่างของบารมีพิรุณเองจะมีการเก็บข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์เพื่อสร้าง ideal conditions สำหรับพืชแต่ละตัว เพื่อให้ผลผลิตที่ได้นั้นดีที่สุดนั่นเอง นอกเหนือจากในกรุงเทพแล้วยังมีในจังหวัดอื่น เช่น บุรีรัมย์ ที่มีโรงปลูกกัญชาที่ใช้แสงเทียม หรืออย่างของ สวทช.ที่มีการสร้าง Plant Factory เพื่อทำการวิจัยในการปลูกสมุนไพรหรือดอกไม้
แม้พืชผลส่วนใหญ่ของโลกยังคงปลูกในฟาร์มแบบดั้งเดิม แต่การทำฟาร์มแนวตั้งอาจกลายเป็นผู้เล่นคนสำคัญที่จะเลี้ยงปากท้องผู้คนในอนาคต เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ศัตรูตัวฉกาจของการทำฟาร์มแบบดั้งเดิม แม้เทคโนโลยีสมัยใหม่จะช่วยพัฒนาพืชผลให้เหมาะกับสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งกว่าเดิม แต่ความสามารถของฟาร์มแนวตั้งในการผลิตที่มากขึ้นในพื้นที่เท่าเดิม จะมีบทบาทมากขึ้นเมื่อประชากรโลกสูงขึ้นในอนาคต
เกษตรแนวตั้ง คืออะไร
“เกษตรแนวตั้ง” เป็นการเพาะปลูกพืชในอาคารหรือโรงเรือนในลักษณะเป็นชั้นแนวดิ่ง โดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการเพาะปลูก ทั้งการควบคุมแสง ความชื้น ความเป็นกรด-ด่าง และอุณหภูมิของวัสดุปลูก ระบบการให้น้ำ การควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืช รวมทั้งการคัดเลือกพันธุ์พืช นอกจากนั้นบางแห่งยังมีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และคอมพิวเตอร์ เข้ามาบริหารจัดการโรงเรือนอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้การทำเกษตรกรรมแนวตั้งสามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี ในพื้นที่ขนาดจำกัด และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณสูงกว่าการทำเกษตรกรรมทั่วไป
นอกจากนั้น การทำเกษตรกรรมในอาคารยังสามารถนำเทคโนโลยีการกำจัดและบำบัดของเสียมาใช้ร่วมด้วย ทั้งการบำบัดน้ำและการนำกลับมาใช้ใหม่ การนำเศษพืชผักผลิตเป็นพลังงานชีวมวล เป็นต้น ในส่วนของพลังงานแสงนั้น สามารถใช้ได้ทั้งแสงธรรมชาติจากดวงอาทิตย์ผ่านแผงเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ (solar cell) และแสงประดิษฐ์จากหลอด LED
ทั้งนี้ การทำเกษตรกรรมแนวตั้ง หรือเกษตรกรรมในอาคาร สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำเกษตรกรรม และสามารถลดข้อจำกัดต่าง ๆ ในการทำเกษตรกรรมแบบทั่วไปได้ ได้แก่ ข้อจำกัดด้านสภาพภูมิศาสตร์ สภาพภูมิอากาศ โรคและแมลงศัตรูพืช ทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ และการควบคุมผลผลิต รวมทั้ง ปัญหาที่ดินจำกัด หรือพื้นที่ที่มีทรัพยากรดินที่ไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้
นอกจากนั้น การทำเกษตรกรรมบนอาคารสูงในเมืองยังลดการขนส่งผลผลิตจากชนบทมาสู่เมือง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรกรรมและการขนส่ง และลดปัญหาการชะหน้าดินและการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสมได้อีกด้วย