นางกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการ GISTDA นำทีมลงพื้นที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ซึ่งเป็น 1 ในพื้นที่นำร่องการอบรมการใช้งานแอปพลิเคชัน “เช็คแล้ง” การลงพื้นที่ครั้งนี้ “เช็คแล้ง” ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเกษตรกรในพื้นที่โดยร่วมทดสอบและใช้งานแอปพลิเคชันในพื้นที่จริง เพื่อตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งด้วยข้อมูลจากดาวเทียม
แอปพลิเคชัน “เช็คแล้ง” เป็นแอปที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยทีม GISTDA ร่วมกับสำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน และกรมอุตุนิยมวิทยา ภายใต้ทุนอุดหนุนวิจัยและนวัตกรรม เพื่อใช้ในการติดตามความเสี่ยงและความเสียหายของแปลงเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งเป็นการนำข้อมูลจากดาวเทียม ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และข้อมูลจากสถานีตรวจวัดที่เกี่ยวข้องกับภัยแล้ง มาวิเคราะห์และแสดงผล เพื่อให้เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้งานได้ด้วยตัวเอง โดยการระบุพิกัดพร้อมขอบเขตแปลงเกษตรของตนเอง ตัวระบบของแอปจะช่วยวิเคราะห์ว่าในพื้นที่แปลงเกษตรของตนเองนั้นมีความเสี่ยงมากหรือน้อยขนาดไหนกับภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
แอปพลิเคชัน “เช็คแล้ง” จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการตัดสินใจให้กับเกษตรกรสำหรับการวางแผนการเพาะปลูกได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นการช่วยลดผลกระทบและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยแล้งได้
.
สำหรับพื้นที่นำร่องการอบรมใช้งาน “เช็คแล้ง” จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร ร้อยเอ็ด สุรินทร์ นครราชสีมา อุทัยธานี และกำแพงเพชร
ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีผลกระทบโดยตรงกับการเกษตรและแหล่งน้ำ ส่งผลเสียหายต่อกิจกรรมทางการเกษตร เช่น พื้นดินขาดความชุ่มชื้น พืชขาดน้ำ พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพต่ำ รวมถึงปริมาณลดลง ภัยแล้งที่เกิดมีผลต่อการเกษตร มักเกิดในฤดูฝนที่มีฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่เกิดจากฝนแล้ง และทิ้งช่วงโดยแต่ละปีจะเกิดขึ้นได้ 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องถึงฤดูร้อน ซึ่งจะเริ่มจากครึ่งหลังของเดือนตุลาคมเป็นต้นไป บริเวณประเทศไทยตอนบน (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก) จะมีปริมาณฝนลดลงเป็นลำดับ ยกเว้นภาคใต้จนกว่าจะย่างเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป ซึ่งภัยแล้งลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีและมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ส่วนภัยแล้งอีกช่วงหนึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงกลางฤดูฝน คือ ประมาณปลายเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม จะมีฝนทิ้งช่วง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเฉพาะท้องถิ่น หรือบางบริเวณแต่บางครั้งก็อาจครอบคลุมพื้นที่กว้างเกือบทั่วประเทศไทย
สำหรับภัยแล้งทางการเกษตรของประเทศไทย สามารถแบ่งออกเป็นภัยแล้งที่เกิดขึ้นในสภาพพื้นที่เกษตรน้ำฝนและที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรชลประทาน ได้แก่
1. ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรน้ำฝน เป็นสภาวะที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำสำหรับการเพาะปลูกในช่วงฤดูฝนหรือช่วงฤดูแล้งมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชในช่วงระยะเวลาต่างๆ เป็นผลให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจของชาติโดยรวม
2. ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรชลประทาน ถึงแม้ว่าจะเป็นพื้นที่ส่งน้ำสำหรับการเพาะปลูกแต่สภาวะที่เกิดการขาดแคลนน้ำสำหรับการเพาะปลูกในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของช่วงการเพาะปลูกพืชสามารถเกิดขึ้นได้เช่นกันเช่นปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมีน้อย หรือสัดส่วนการใช้น้ำด้านอื่นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีผลกระทบให้การเจริญเติบโตของพืชชะงักทำให้ผลผลิตพืชลดลงหรือตายไปในที่สุด กระทบต่อเกษตรกรโดยตรงและเศรษฐกิจของชาติโดยรวม
.