รัฐบาลโชว์ผลงานด้านน้ำ 2 พื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 4 ปีขับเคลื่อนเกือบ 3,000 โครงการ

วันที่ 11 ก.พ.66 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า รัฐบาลโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบ ให้มีน้ำเพียงพอสำหรับประชาชนในทุกมิติทั้งด้านการเกษตร อุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยว ด้านอุตสาหกรรม การรักษาระบบนิเวศ รวมทั้งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างยั่งยืน 

IMG 64822 20230211085124000000
อนุชา บูรพชัยศรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 

ล่าสุดกับผลความก้าวหน้าการพัฒนาทรัพยากรน้ำในพื้นที่ 2 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างซึ่งรัฐบาลมีการเร่งรัดผลักดันการขับเคลื่อนโครงการด้านน้ำตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ปี 2561-65 รวมเกือบ3,000 โครงการ แบ่งเป็น พิษณุโลก 1,881 โครงการ และจังหวัดนครสวรรค์ 1,087 โครงการ เช่น ประตูระบายน้ำท่านางงามพร้อมอาคารประกอบ โครงการก่อสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมน้ำเสีย เทศบาลนครพิษณุโลก แก้มลิงคลองละหานพร้อมอาคารประกอบแก้มลิงบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์  ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนวัดไทรย์ อำเภอเมืองนครสวรรค์  เป็นต้น 

“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแผนการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนแม่บทน้ำ 20 ปี เพื่อให้ทรัพยากรน้ำของประเทศเกิดความมั่นคงส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมทั้งให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนต่อเนื่องให้เห็นถึงความจำเป็นและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากประชาชนทุกฝ่ายในการร่วมกันขับเคลื่อนโครงการให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายและให้มีน้ำเพียงพอสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ โดยเฉพาะลุ่มน้ำยม ที่รัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซากให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งประตูระบายน้ำท่านางงาม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เป็น 1 ใน 4 โครงการที่จะบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่างโดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จคาดจะทำให้สามารถเก็บกักน้ำในแม่น้ำยมได้เพิ่มขึ้น  และมีปริมาณน้ำเพียงพอจัดสรรให้กับภาคการเกษตร รวมถึงช่วยเพิ่มระดับน้ำใต้ดินของพื้นที่ข้างเคียงด้วย 

รวมทั้งการเร่งดำเนินการโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำน่าน ต.พลายชุมพล อ.เมือง จ.พิษณุโลก ให้เป็นไปตามแผนงาน และป้องกันไม่ให้ถูกกัดเซาะเพิ่มเติมโดยเร่งดำเนินการแก้ไขให้ครอบคลุมทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ให้บูรณาการการดำเนินงานกับทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การทำประมง การเกษตรกรรม การท่องเที่ยว การอนุรักษ์ เพื่อให้บึงบอระเพ็ดกลับมาเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชน และระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมโดยรอบดีขึ้นตามไปด้วย” นายอนุชาฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตการเกษตรและอุตสาหกรรม ประเทศไทยบริหารจัดการน้ำตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อให้การใช้น้ำเกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและปัญหาภัยแล้ง การบริหารจัดการน้ำดังกล่าวจะเกิดประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลได้ จำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการและใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหาร เพื่อให้เกิดสมดุลของน้ำ และเกิดประโยชน์สูงสูดต่อประชาชน และสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและปัญหาภัยแล้งในสังคมได้อย่างยั่งยืน

ถึงแม้ว่า “น้ำ” เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่หมด แต่ควรมีการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสม เพื่อให้ชุมชนได้ใช้น้ำที่มีคุณภาพดี มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของชุมชนและกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการพัฒนาระบบการจัดการน้ำมาใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่ายิ่งขึ้นด้วยการจัดระบบชลประทาน ทำให้เกิดพื้นที่เพาะปลูกหรือพื้นที่เกษตรกรรมที่ไม่ต้องพึ่งพิงน้ำฝนมากขึ้น

ในขณะเดียวกันในหลายชุมชน ได้จากแหล่งน้ำผิวดิน เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง หรืออ่างเก็บน้ำ ดังนั้น การจัดการน้ำ จึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายต้องให้ความสำคัญเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าน้ำเป็นทรัพยากรที่ต้องจัดการให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้น้ำทุกกลุ่มได้อย่างเพียงพอและประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาในการบริหารจัดการน้ำในปัจจุบันคือจะทำอย่างไรจึงจะก่อให้เกิดการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม