วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวนฤมล สงวนวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ร่วมหารือกับ ดร.จาง เจียงเฟิง(Dr. Jiangfeng Zhang) ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและการเกษตร ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Director, Environment, Natural Resources & Agriculture Division Southeast Asia Department) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) สำนักงานใหญ่ กรุงมะนิลาสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเด็นหารือที่สำคัญ ได้แก่ การกระชับความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับ ADB ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
โดยที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือระหว่างกันมาอย่างยาวนาน ในลักษณะหุ้นส่วนการพัฒนาทุกระดับ ทั้งระดับประเทศ ระดับทวิภาคี พหุภาคี อนุภูมิภาค ภูมิภาค และระดับโลก
สำหรับการหารือในวันนี้ กระทรวงเกษตรฯ พร้อมที่จะดำเนินการและร่วมมือกับ ADB ในการเพิ่มศักยภาพการผลิตภาคการเกษตร การประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในภาคการเกษตรและการส่งเสริมการทำเกษตรที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ยังได้เสนอให้ฝ่าย ADB ไปศึกษาดูงานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจBCG สาขาเกษตร ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง 1 ใน 5 จังหวัดและกลุ่มสินค้าเป้าหมาย ที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีสินค้าเป้าหมาย คือ มะพร้าวน้ำหอม อ้อย สุกร โคนม กุ้งก้ามกราม สินค้าเกษตรปลอดภัยเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทยและ ADB ให้มากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาความร่วมมือกับภูมิภาคอื่น ๆ
นางสาวนฤมลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ขอบคุณที่ ADB ได้ให้การสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ไทยในโครงการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรเพื่อการฟื้นตัวและความยั่งยืนในพื้นที่สูง (Climate Change Adaptation in Agriculture for Enhanced Recovery and Sustainability of Highlands) ที่อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ซึ่งโครงการนี้ช่วยลดความเปราะบางและส่งเสริมความสามารถในการปรับตัวของชุมชนและระบบนิเวศพื้นที่สูง ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงเพิ่มเติมแนวทางที่จะทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถรักษาโครงการนี้ได้อย่างยั่งยืนหลังจากเสร็จสิ้นโครงการ”
ทั้งนี้ ฝ่าย ADB ชื่นชมประไทยที่มีความก้าวหน้าด้านการเกษตรและความร่วมมือและช่วยเหลือประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ส่งเสริมห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการผลิต การค้า และการลงทุนในห่วงโซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างความมั่นคงด้านน้ำ อาหาร และพลังงานในภาคการเกษตร จึงประสงค์ให้ประเทศไทยถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ในด้านการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices)
สำหรับการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างกระทรวงเกษตรฯและ ADB จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตร ความมั่นคงทางอาหารและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป