สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า มีฝนตกบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกอ้อยในระยะแตกกอปลูกใหม่ รับมือด้วงหนวดยาวอ้อย
ตัวหนอนของด้วงหนวดยาวอ้อยเริ่มเข้าทำลายตั้งแต่ระยะเริ่มปลูกอ้อย โดยเจาะไชเข้าไปกัดกินเนื้ออ้อยภายในท่อนพันธุ์ ทำให้ท่อนพันธุ์ไม่งอก หน่ออ้อยอายุ 1–2 เดือน จะถูกกัดกินตรงส่วนโคนที่ติดกับเหง้าให้ขาดออก ทำให้หน่ออ้อยแห้งตาย เมื่ออ้อยมีลำแล้วพบว่าการเข้าทำลายของด้วงหนวดยาวอ้อยจะทำให้กาบใบและใบอ้อยแห้งตายทั้งต้นหรือทั้งกออ้อย
หนอนที่มีขนาดเล็กจะกัดกินบริเวณเหง้าอ้อยทำให้การส่งน้ำและอาหารจากรากไปสู่ลำต้นและใบน้อยลง เมื่อหนอนมีขนาดใหญ่ขึ้นจะเริ่มเจาะไชจากส่วนโคนลำต้นขึ้นไปกินเนื้ออ้อย ทำให้ลำต้นเป็นโพรงเหลือแต่เปลือก ลำต้นอ้อยหักล้มและแห้งตาย
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
1. อ้อยปลูกใหม่
ทำการป้องกันกำจัดด้วยวิธีผสมผสาน ได้แก่
1. การป้องกันกำจัดด้วยวิธีกล
– ไถพรวนดินแล้วเก็บตัวหนอนของ
ด้วงหนวดยาวอ้อยตามรอยไถ ก่อนปลูกอ้อย
2. การป้องกันกำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
– โรยเชื้อราเขียวเมตาไรเซียม อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ บนท่อนพันธุ์พร้อมปลูกแล้วกลบดิน
3. การป้องกันกำจัดด้วยสารเคมี ในพื้นที่ที่มีการระบาดของด้วงหนวดยาวอ้อยอย่างรุนแรง ให้ป้องกันกำจัดด้วยสารเคมี
การใช้สารเคมีชนิดน้ำ
– พ่นสารฆ่าแมลง ฟิโพรนิล 5% EC อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อัตรา 320 มิลลิลิตรต่อไร่ บนท่อนพันธุ์อ้อยพร้อมปลูกแล้วกลบดิน
การใช้สารเคมีชนิดเม็ด
– โรยสารฆ่าแมลง ฟิโพรนิล 0.3% G อัตรา 6 กิโลกรัมต่อไร่ บนท่อนพันธุ์อ้อยพร้อมปลูกแล้วกลบดิน
2. ระยะอ้อยแตกกอ ทำการป้องกันกำจัดด้วยวิธีผสมผสาน ได้แก่
1. การป้องกันกำจัดด้วยวิธีกล
– ถ้าพบหน่ออ้อยแห้งตาย ให้ขุดกออ้อยและจับตัวหนอนหนวดยาวอ้อย ออกมาทำลายนอกแปลง
2. การป้องกันกำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
– เปิดร่องอ้อยแล้วโรยเชื้อราเขียวเมตาไรเซียม อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ชิดกออ้อยแล้วกลบดิน
3. การป้องกันกำจัดด้วยสารเคมี ในพื้นที่ที่มีการระบาดของด้วงหนวดยาวอ้อยอย่างรุนแรง ให้ป้องกันกำจัดด้วยสารเคมี
การใช้สารเคมีชนิดน้ำ
– เปิดร่องอ้อยแล้วพ่นสารฆ่าแมลง ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อัตรา 320 มิลลิลิตรต่อไร่ ให้ชิดกออ้อยแล้วกลบดิน
การใช้สารเคมีชนิดเม็ด
– เปิดร่องอ้อยแล้วโรยสารฆ่าแมลง ฟิโพรนิล 0.3% G อัตรา 6 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ชิดกออ้อยแล้วกลบดิน
หมายเหตุ
– กรณีการใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม และสารเคมี ขณะใช้ดินต้องมีความชื้น หรือเป็นพื้นที่ที่สามารถให้น้ำได้
ที่มา : สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร