วันที่ 22 พ.ค. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้ติดตามความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ เพื่อรับกับที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 จะมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไปและมีผลให้ทุกส่วนของ “กัญชา กัญชง” ไม่เป็นยาเสพติดประเภท 5 ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2%
ในส่วนความพร้อมด้านการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ “กัญชา กัญชง” ให้ประชาชน กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันเดินสายจัดงานประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ ใน 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ให้ความรู้ทั้งด้านกฎหมาย การเพาะปลูก และโอกาสทางธุรกิจ ขณะนี้ดำเนินการเกือบครบทุกเขตแล้ว โดยคาดว่าจะครบทั่วประเทศได้ก่อนที่ประกาศฯ จะมีผลบังคับในวันที่ 9 มิ.ย. 2565
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ด้านความพร้อมเพื่อสนับสนุนการปลูกใช้ประโยชน์ในครัวเรือนของประชาชนนั้น เมื่อประกาศฯ มีผลบังคับประชาชนสามารถปลูกได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่จดแจ้ง ในส่วนนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อำนวยความสะดวกให้ประชาชนโดยการพัฒนาแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” เพื่อเป็นช่องทางการจดแจ้งการปลูกกัญชา กัญชงเพื่อดูแลสุขภาพสำหรับประชาชนทั่วไป รวมทั้งการขออนุญาตปลูกในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเริ่มเปิดใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการจัดทำแนวทางส่งเสริมสนับสนุนการใช้ “กัญชา กัญชง” ที่ปลอดภัยอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การศึกษา วิจัย ปรับปรุงสายพันธุ์กัญชาและกัญชงในประเทศ จัดทำคู่มือการใช้อย่างเข้าใจ และภายใต้ความร่วมมือของ 2 กระทรวงจะมีการพัฒนาต้นกล้ากัญชา 1 ล้านต้นเพื่อกระจายแจกจ่ายให้ประชาชนทั่วประเทศต่อไปด้วย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในส่วนของกฎหมายรองรับนั้น แม้ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. … จะยังไม่มีผลบังคับเนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการออกกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุขจะพิจารณาใช้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น พ.ร.บ.การสาธารณสุข ในการป้องปรามการนำไปใช้ในทางสันทนาการ รวมถึงอยู่ระหว่างพิจารณาการขยายการบังคับใช้ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ให้ครอบคลุมถึง “กัญชา กัญชง”
อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์และเพื่อเศรษฐกิจ ได้นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง สำนักงาน อย. รายงานว่า ณ ปัจจุบันได้มีการอนุญาตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของ “กัญชา กัญชง” และสารสกัดแคนนาบิไดออล (CBD) รวมทั้งสิ้น 935 รายการ แยกเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร 90 รายการ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมีการอนุญาตไป 818 รายการ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 12 รายการ และผลิตภัณฑ์ยา 15 รายการ
นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 2565 เป็นต้นมา ผลิตภัณฑ์น้ำมันสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ 3 สูตร ขององค์การเภสัชกรรม(อภ.) ได้แก่ สูตรที่มี THC เด่น สูตรที่มี CBD เด่น และสูตรที่มี CBD และTHC ในสัดส่วน 1:1 ได้รับการบรรจุเป็นรายการยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ.2564 แล้ว ซึ่งจะช่วยผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาสุขภาพได้มากและไม่ต้องกังวลเรื่องของราคายาที่จะสูงเกินไป