นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจากดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหารือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง
โดยมีนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยและกรรมการ ตลอดจนตัวแทนนายกสมาคมชาวประมง เจ้าของเรือประมงที่ได้รับผลกระทบจากพระราชกำหนดประมงปีพ.ศ.2558 นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง นายเดชา ปรัชญารัตน์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมประมง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 123 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายอลงกรณ์ แถลงถึงผลการประชุมวันนี้ว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาโดยจะเสนอดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้
1. เห็นควรเสนอให้มีการปรับปรุงประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง คณะกรรมการเปรียบเทียบ และหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาของคณะกรรมการเปรียบเทียบ พ.ศ. 2561 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 170 วรรคสองและวรรคสาม แห่ง พรก.การประมง พ.ศ.2558
2. เห็นควรยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 22/2560 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม
3. กรณีที่มีการออกกฎระเบียบใด ๆ จะต้องกำหนดห้วงเวลาก่อนการบังคับใช้เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ชาวประมง โดยกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในการบังคับใช้ หลังวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
4. มอบหมายกรมประมงหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงประเด็นความคลุมเครือในมาตรา 38 และมาตราอื่น ๆ เช่น มาตรา 19 มาตรา 20 และมาตรา 105 เป็นต้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้และการตีความกฎหมายเพื่อความเป็นธรรม
5. ขอให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่าย ใช้หลักนิติรัฐ นิติธรรม ในการพิจารณาตั้งข้อกล่าวหากับชาวประมงที่กระทำผิด โดยใช้ดุลยพินิจดูที่เจตนาตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายบนหลักความยุติธรรมเนื่องจากพรก.การประมงปี 2558 นั้น มีบทกำหนดโทษที่รุนแรง
“ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ มีความห่วงใยพี่น้องชาวประมง จึงมีนโยบาย 3 ป. ป้อง ปราม ปราบเพื่อเป็นแนวทางให้กรมประมงเร่งแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวประมง โดยติดตามดูแลทุกประเด็นข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงทุกกลุ่ม พร้อมรับข้อเรียกร้องของทางสมาคม และตัวแทนชาวประมงให้กรมประมงนำไปพิจารณา และขอขอบคุณชาวประมงที่ได้สะท้อนปัญหาเพื่อเป็นประโยชน์ในการบูรณาการร่วมมือกันหาแนวทางแก้ไข
ทั้งนี้ ขอฝากไปยังเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่ายว่า เมื่อเกิดเหตุแล้วขอให้ใช้ดุลยพินิจในการดำเนินการกับผู้กระทำผิด โดยให้ดูที่เจตนาเป็นหลัก ในส่วนของมาตราที่ยังเป็นปัญหาทั้งข้อจำกัดของเวลาและเงื่อนไข ก็ให้กรมประมงนำมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขต่อไป ซึ่งการออกกฎหมายต่าง ๆ ขอให้คำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่ายให้ได้รับความเป็นธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นายอลงกรณ์ กล่าว
สำหรับประเด็นเรื่องร่างประกาศกรมประมงว่าด้วยรางวัลแก่ผู้แจ้งความนำจับที่แจ้งเบาะแสเรือประมงที่กระทำผิดกฎหมายนั้น ขณะนี้ได้ชะลอเรื่องดังกล่าว เพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายให้รอบคอบอีกครั้งหนึ่ง