วันที่ 8 ก.พ. 2566 ณ ห้องประชุมบัวหลวงปทุมธานี ศาลากลาง จังหวัดปทุมธานี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการดำเนินโครงการด้านทรัพยากรน้ำ พื้นที่จังหวัดปทุมธานี พร้อมลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการภายใต้แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน และความก้าวหน้าการก่อสร้างโครงการสถานีสูบน้ำถาวรปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายเดช เล็กวิชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง นายชุติมนต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 นายยงยส เนียมทรัพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 นายทรงพล สวยสม ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 11 และผู้เกี่ยวข้อง บรรยายสรุปการดำเนินงานและร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานดำเนินโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ระยะเวลาดำเนินงาน 6 ปี (พ.ศ. 2567 – 2572) ภายใต้แผนบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ด้วยการปรับปรุงขุดขยายคลองชลประทานเดิม จำนวน 26 คลอง ความยาวรวม 490 กิโลเมตร รวมทั้งก่อสร้างและปรับปรุงอาคารบังคับน้ำเพิ่มเติม บริเวณคลองต่าง ๆ ให้สามารถระบายน้ำได้มากขึ้น ดังนี้
1. คลองระพีพัฒน์ ตั้งแต่ประตูระบายน้ำพระนารายณ์ ถึง ประตูระบายน้ำพระศรีเสาวภาค ความยาว 32.28 กิโลเมตร
2. คลองระพีพัฒน์แยกตก ตั้งแต่ประตูระบายน้ำพระศรีศิลป์ ถึง ประตูระบายน้ำพระอินทร์ราชา ความยาว 36.65 กิโลเมตร
3. คลองระพีพัฒน์แยกใต้ ตั้งแต่ประตูระบายน้ำพระศรีเสาวภาค ถึง ประตูระบายน้ำพระธรรมราชา ความยาว 28.49 กิโลเมตร
4. คลองรังสิตประยูรศักดิ์ ตั้งแต่สถานีสูบน้ำจุฬาลงกรณ์ ถึง สถานีสูบน้ำเสาวภาผ่องศรี ความยาว 40.55 กิโลเมตร
5. คลองรังสิตประยูรศักดิ์ – คลองหกวาสายล่าง ประกอบด้วย ปรับปรุงคลอง 13, 14, 15 และ 16 ความยาวรวม 40.72 กิโลเมตร
6. คลองหกวาสายล่าง – คลองบางขนาก ประกอบด้วย ปรับปรุงคลองหกวาสายล่าง คลอง 13, 14, 15, 16 และ 17 ความยาวรวม 79.25 กิโลเมตร
7. คลองพระองค์ไชยานุชิต – คลองนครเนื่องเขต – คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองสาขา ความยาวรวม 132.60 กิโลเมตร
8. คลองด่าน – คลองสำโรง และคลองสาขา ความยาวรวม 41.89 กิโลเมตร
ปัจจุบัน ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจพื้นที่เสร็จแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มอัตราการระบายน้ำจากเดิม 210 ลบ.ม./วินาที เป็น 400 ลบ.ม./วินาที สามารถบรรเทาอุทกภัย ลดพื้นที่น้ำท่วมได้ถึง 276,000 ไร่ ลดมูลค่าความเสียหายจากอุทกภัยได้เฉลี่ยปีละ 5,085 ล้านบาท ทั้งยังเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในคลองช่วงฤดูแล้งเพิ่มขึ้นอีก 18 ล้าน ลบ.ม./ปี ได้อีกด้วย
สำหรับ โครงการสถานีสูบน้ำถาวรปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ พร้อมเครื่องสูบน้ำ ขนาด 12 ลบ.ม./วินาที จำนวน 8 เครื่อง และขนาด 6 ลบ.ม./วินาที จำนวน 8 เครื่อง สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 144 ลบ.ม./วินาที เป็นการก่อสร้างสถานีสูบน้ำแบบถาวร ทดแทนสถานีสูบน้ำกึ่งถาวรบริเวณปากคลองรังสิตฯ ที่มีสภาพชำรุดเนื่องจากการใช้งานมานาน ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งหากดำเนินโครงการฯ แล้วเสร็จตามแผน (2567-2569) จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี กรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งยังช่วยลดความสูญเสียด้านเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้อีกด้วย
ในการนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินโครงการด้านทรัพยากรน้ำ ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน และพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ บรรเทาปัญหาความเดือนร้อนให้แก่ประชาชน ได้อย่างเป็นรูปธรรม