สศก. เดินหน้า”โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์”ต่อเนื่อง หลังประสบความสำเร็จชุมชนอยู่ร่วมกับช้างป่าได้อย่างสมดุลและยั่งยืน

นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามในการดำเนินงานการปฏิบัติงานด้านการเกษตร ตามแผนแม่บทสร้างความสมดุลระหว่างคนและช้างป่า ภายใต้ “โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” ได้ติดตามผลการดำเนินงานภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ทั้ง 5 จังหวัด พบว่า ผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2565 ระยะ 6 เดือน (ตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565) ขณะนี้ทยอยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

img 0784 582967
แหล่งอาหารช้างป่า

กิจกรรมที่ดำเนินการแล้วเสร็จ อาทิ การจัดอบรมถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีด้านการการเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง การจัดทำแปลงเรียนรู้สำหรับเกษตรกรต้นแบบ การสนับสนุนปัจจัยการผลิตการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีแบบผสมผสานและการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย การส่งเสริมการปลูกพืชปุ๋ยสด การก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน 14 บ่อ การอบรมให้ความรู้ด้านการสหกรณ์และการรวมกลุ่ม ถ่ายทอดความรู้ด้านการการเลี้ยงปศุสัตว์ การสนับสนุนพันธุ์โคเนื้อเพศเมีย 112 ตัว

ซึ่งในช่วงครึ่งหลังของปีงบประมาณจะเร่งดำเนินการในส่วนของกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การส่งเสริมการผลิตปุ๋ยหมัก การผลิตหญ้าแฝก การสนับสนุนไก่อารมณ์ดี เป็นต้น นับว่าโครงการดังกล่าว มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก “ช้างป่า” ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการของทุกภาคส่วนเพื่อให้ชุมชนอยู่ร่วมกับ “ช้างป่า” ได้อย่างสมดุล และช่วยเกษตรกรในพื้นที่ ได้พัฒนาอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้นและลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง

ซึ่งจะเห็นได้จากผลสำเร็จในรอบปีที่ผ่านมาได้ช่วยเกษตรกร “หมู่บ้านคชานุรักษ์” (ต้นแบบ) ที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ 5 จังหวัดสามารถนำความรู้จากการอบรมไปใช้ประโยชน์ได้จริง มีการนำปัจจัยการผลิตที่ได้รับการสนับสนุนไปใช้ประโยชน์ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาอาชีพ ครัวเรือนละ 12,923 บาทต่อปี สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนลงได้ และสามารถลดต้นทุนจากการทำการเกษตรด้วยการใช้ปัจจัยการผลิตของตนเอง เช่น เก็บพันธุ์พืช/พันธุ์สัตว์เพื่อขยายพันธุ์ต่อ ใช้มูลสัตว์ที่ได้รับการส่งเสริมทำปุ๋ยคอก และทำน้ำหมักชีวภาพใช้เอง

สำหรับปัญหาความขัดแย้งรุนแรงระหว่างคนและช้างป่าที่เข้ามาบุกรุกพื้นที่ชุมชนปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งตามสื่อต่าง ๆ อันเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างป่ากับคนในชุมชน ทั้งด้านความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เพราะช้างป่าบุกรุกเข้ามาทำลายทรัพย์สินพืชผักผลไม้จนไม่สามารถเข้าไปทำกินได้ หรือบางรายก็ถูกช้างป่าทำร้ายจนสูญเสียชีวิต ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการใช้วิธีไล่ช้างแบบผิด ๆ จนทำให้ช้างป่าเกิดอาการตกใจและเข้าทำร้ายผู้คนในที่สุด และอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ช้างต้องออกจากป่ามาหากินในชุมชนคือสภาพป่าไม้ที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ขาดแหล่งอาหารที่เพียงพอในการหล่อเลี้ยงชีวิต

ครั้นภาพความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎรทราบยังฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาระหว่างคนและช้างป่าให้อยู่ร่วมกันอย่างสมดุล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับ “โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์”ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ทรงรับเป็นประธานที่ปรึกษาโครงการฯ กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดีกรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นประธานคณะกรรมการฯ ด้วยทรงมีพระบรมราโชบายในการอนุรักษ์ป่าและช้างรวมทั้งการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนและช้าง