สวนเกษตรผสมผสานในพื้นที่ 10 ไร่ของลุงยุ้งหรือ ยุ้ง นาวะ เกษตรกรต้นแบบ บ้านโป่งลึก ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกะจาน จ.เพชรบุรี มีทั้งผัก ผลไม้ และสมุนไพรพื้นบ้านมากมาย บางอย่างเอาไปขาย บางอย่างเอาไว้กิน บางอย่างเอาไว้ดู บางอย่างลุงยุ้งอยากทดลองปลูกดูว่าจะสามารถขึ้นได้หรือไม่ โดยรวมแล้วน่าจะมีพืชผัก สมุนไพร และผลไม้ที่กินได้ ไม่น้อยกว่า 50 ชนิด อาทิ ทุเรียน เงาะ กาแฟ สัปปะรด มะนาว กล้วย บอน กลอย พริกไทย ใบชะพลู กระเจี๊ยบ (มี 3 สายพันธุ์) ยังไม่รวมกับข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ฯลฯ และผักพื้นบ้านที่คนในท้องถิ่นกินเป็นอาหารอีกมากมาย
พืชผักหลายอย่างไม่ได้นำไปขาย แต่เก็บไว้กินเอง ลุงยุ้งขายผักไม่กี่ชนิด เช่น ถั่วฝักยาว ฟักทอง พริก และ มะเขือ ลุงยุ้งจะเน้นการปลูกให้มาก ที่สำคัญคือปลูกไว้ให้คนในครอบครัวได้มีไว้กิน ส่วนไม้ดอกก็ปลูกไว้เพื่อความสบายตาสบายใจ เป็นความภาคภูมิใจที่สามารถใช้พื้นที่ดินได้อย่างคุ้มค่าและสามารถเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานได้ สวนของลุงยุ้งเป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่ขยันจะไม่อดตาย พืชผักนานาชนิดสามารถนำไปขายให้กับคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวได้ ผ่านกลุ่มแม่บ้านที่จะนำไปทำอาหารให้กับนักท่องเที่ยวและตลาดผู้บริโภค ลุงยุ้ง เล่าว่า การทำเกษตรนำความสุขมาให้ลุงยุ้งมากกว่า แม้จะได้เงินน้อย แต่เราได้เป็นนายตัวเอง
“อยากจะพักตอนไหนก็ทำได้ จะทำ 1-2 ชั่วโมง ก็ได้ ไม่มีใครมาบังคับเรา เราต้องบังคับใจเราเอง แต่ต้องเตือนสติ ตัวเองเสมอว่าอย่าขี้เกียจ ดังนั้น การทำเกษตรแบบผสมผสานในที่ดินของตนเอง ลุงยุ้งมองว่าสบายใจมากกว่าการไปรับจ้างที่ต้องไปเป็นลูกจ้างเขา”
ลุงยุ้ง เล่าต่อไปว่า เมื่อสมัครเข้าร่วมโครงการกับมูลนิธิปิดทองฯ ลุงยุ้งได้รับไก่พื้นเมือง 100 ตัว ทางมูลนิธิฯ ต้องการให้เกษตรกรเลี้ยงไก่ไว้กินเอง ส่วนที่เหลือสามารถนำไปขายให้กับนักท่องเที่ยวหรือเพื่อนบ้านได้ ที่ผ่านมาเคยนำไปขายนักท่องเที่ยวได้ 6 คน ได้เงินมา 2,000 บาท โดยขายกิโลกรัมละ 80 บาท
ส่วนการทำเกษตรผสมผสาน ลุงยุ้งเริ่มทำมาเมื่อ 5 ปี แล้ว เริ่มจากการปลูกพริกนก มะเขือ และข้าวไร่ แม้ไม่ได้มีหลักการหรือออกแบบวางแผนอะไรในที่ดินมากนัก แต่ก็ให้ความสำคัญกับระบบน้ำ ต้องดูว่าพืชชนิดไหนต้องการน้ำมาก หรือชนิดไหนต้องการน้ำน้อย เพราะถ้าพืชที่ต้องการน้ำมากก็เอาไปปลูกไว้ใกล้กับแหล่งน้ำเลย เช่น ยอดฟักทอง พริก มะเขือ จะปลูกใกล้ริมตลิ่ง ต่อมาจึงปลูกกล้วย ตามด้วยมะนาวพันธุ์ยักษ์ เพราะทนโรค และยังทดลองเอาพันธุ์อื่น ๆ มาปลูกด้วย เช่น แป้นรำไพ แป้นพวง เป็นต้น
ดินบริเวณสวนของลุงยุ้งค่อนข้างดี เป็นดินปนทราย ปลูกอะไรก็งาม ดังนั้น เป็นการช่วยส่งเสริมในการทำเกษตรผสมผสานที่เป็นเกษตรอินทรีย์ของลุงยุ้ง เพราะไม่ต้องใส่ปุ๋ยและดูแลมาก โดยสวนของ ลุงยุ้งมีจุดเด่นดังนี้
1. “ไม่ได้ใช้สารเคมี” เลย ส่วนหนึ่งมองว่าการใช้ปุ๋ย ใช้ยาเป็นการสิ้นเปลืองสูง และไม่ปลอดภัย
2. มีการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง เช่น ถั่ว ฟักทอง พริก อย่างไรก็ตาม ก็พบอุปสรรคในการทำเกษตรผสมผสานคือ เครื่องสูบน้ำยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ เพราะเป็นเครื่องสูบน้ำที่ใช้น้ำมันเบนซิน ทำให้ต้นทุนสูง หากมีเครื่องสูบที่ใช้น้ำมันดีเซลจะดีและประหยัดเงินมากกว่า นอกจากนี้ก็คือเรื่องหญ้าขึ้นเร็ว (เพราะไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า) ดังนั้น ดังนั้น ต้องหมั่นตัดหญ้าบ่อย ๆ
3. เนื่องจาก 2-3 ปีหลังเริ่มจะมีเพลี้ยลง ดังนั้น ลุงยุ้งจึงทำสารไล่แมลง โดยใช้สูตรง่าย ๆ คือ ใช้หัวกลอย ยาสูบและสะเดา วิธีการ คือ เอากลอยปลอกเปลือกและสับเป็นชิ้น สำหรับสะเดานั้นรูดเอาแต่ใบ ใส่ยาสูบ เหล้า และสารเร่งหรือ พ.ด. นี่เป็นสูตรไล่แมลงสูตรหนึ่ง ที่หาได้จากพืชที่มีในสวน
ส่วนเรื่องการตลาด นอกจากตลาดในชุมชนแล้ว ภรรยาลุงยุ้ง มักจะนำผักที่ปลูก อาทิ ถั่ว และมะเขือ ไปวางขายที่ศูนย์ศิลปาชีพด้วย นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มแม่บ้านที่จะมาสั่งผักลุงยุ้งเป็นประจำก่อนวันเสาร์และอาทิตย์ เพื่อใช้ผักนำไปปรุงเลี้ยงนักท่องเที่ยว โดยเมนูที่กลุ่มแม่บ้านจะนิยมทำคือ ยอดฟักทองผัดน้ำมันหอย และถั่วฝักยาวผักพริกแกง ลุงยุ้งบอกว่า แม้จะมีรายได้ไม่มากนัก แต่การทำเกษตรผสมผสานจะช่วยให้เรามีรายได้ตลอด มีรายได้ทุกอาทิตย์ ทุกเดือน
ที่มา-มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ