วันที่ 1 ก.พ. 66 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ (กนย.) โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมฯ มีมติเห็นชอบเดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 วงเงินรวมกว่า 7.6 พันล้านบาท พร้อมเร่งเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อ คาดเริ่มจ่ายเงินงวดแรกได้กุมภาพันธ์นี้
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า วันนี้ กนย. มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีที่รายได้ลดลงจากที่เกษตรกรควรจะได้รับ และช่วยลดผลกระทบในการดำเนินชีวิต โดยการประกันรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 จำนวนทั้งสิ้น 1,604,379 ราย (เจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ 1,372,865 ราย และคนกรีดยาง 231,514 ราย) คิดเป็นพื้นที่ปลูกยาง รวม 18,183,764.59 ไร่ ซึ่งเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว กำหนดราคาประกันผลผลิตยางแต่ละชนิด ดังนี้ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กิโลกรัม แบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวนร้อยละ 60 และคนกรีด ร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด รายละไม่เกิน 25 ไร่ ระยะเวลาประกันรายได้ 2 เดือน (ตุลาคม – พฤศจิกายน 2565) งบประมาณโครงการฯ รวม 7,643,857,284.15 บาท
โดยหลังผ่านการเห็นชอบจาก กนย. แล้ว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยหน่วยงานการยางแห่งประเทศไทย จะเร่งดําเนินการจัดทํารายละเอียดโครงการฯ เพื่อนําเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็วที่สุด คาดว่าจะสามารถเริ่มจ่ายเงินประกันรายได้ถึงมือชาวสวนยางปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การยางแห่งประเทศไทยคาดการณ์แนวโน้มราคายางในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีบทสรุปว่า จากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิค ราคายางยังคงได้รับปัจจัยกดดันจากที่การส่งออกมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินเศรษฐกิจโลกปี 2566 จะเติบโตต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2544 ที่ร้อยละ 2.7 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 ในปี 2565 รวมถึงชี้ว่าประมาณ 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกและราวครึ่งหนึ่งของสหภาพพยุโรป (อียู)จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2566 สอดคล้องกับองค์การการค้าโลก (WTO) คาดปริมาณการค้าโลกในปี 2566 จะขยายตัวเพียงร้อยละ 1.0 จากเติบโตร้อยละ 3.5 ในปี 2565 อีกทั้ง IMF และ WTO เตือนแนวโน้มการทวนกระแสโลกาภิวัตน์อาจทวีความรุนแรงท่ามกลางความขัดแย้งระหว่าง
ประเทศมหาอำนาจ
โดยเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัวซึ่งยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบภายนอกทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและหลายประเทศเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มที่จะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของธปท.ได้ตั้งแต่ช่วงกลางปี66 คาดว่าการดำเนินนโยบายการเงินของไทยจะไม่เข้มงวดมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
ด้านค่าเงินบำทที่แข็งค่ารวดเร็วโดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาแข็งค่าไปแล้วกว่าร้อยละ 15 อาจมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจระยะยาวขยายตัวได้น้อยลงจากภาคการส่งออกที่สะดุด ดุลการค้าไทยขาดดุลมากขึ้นหรือ Net Exports ติดลบเพิ่มขึ้น รวมถึงภาคคการท่องเที่ยวที่จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ของประเทศอาจลดลงซึ่งล้วนมีผลต่อการจ้างงานและการบริโภคภายในประเทศ เกิด Downside GDP โดยประเด็นความเสี่ยงและปัจจัยท้าทายที่อาจกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ได้แก่ ความผันผวนของตลาดการเงินและความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของโลก
ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยของหลายประเทศที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบหลายปี รวมถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจีนอาจเติบโตต่ำ่กว่าคาดจากการดำเนินนโยบายคุมโควิด-19 ความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์และผลกระทบจากการกีดกันด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ขณะที่ความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออาจสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ
อย่างไรก็ตามราคายางยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนหลัก ๆ จากเศรษฐกิจจีนในเดือนมกราคมมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงปลายยปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยหนุนมาจากการยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ รวมถึงเทศกาลตรุษจีนในช่วงปลายเดือนมกราคม จึงคาดว่าราคายางในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ จากการทำลายแนวโน้มขาลงของราคาแล้ว