เกษตรกรผู้เพาะเห็ดสกุลนางรมให้เฝ้าระวังหนอนแมลงวันเซียริดและหนอนแมลงวันฟอริด ในช่วงบ่มเส้นใยจนถึงช่วงเปิดดอก จะพบหนอนแมลงวันกัดกินเส้นใยเห็ด ทำให้เส้นใยเห็ดไม่เจริญ ถ้าระบาดรุนแรงก้อนเห็ดยุบตัวได้และเห็ดในระยะออกดอก มักพบหนอนแมลงวันเจาะเข้าไปทำลายส่วนของโคนต้นและหมวกดอก ทำให้ดอกเน่าเสียและเป็นโรคได้
แนวทางการป้องกันและแก้ไขการเข้าทำลายของหนอนแมลงวันเซียริดและหนอนแมลงวันฟอริด ให้เกษตรกรเตรียมโรงเรือน โดยการทำความสะอาดโรงเรือน และพ่นบริเวณพื้นฝาผนังและหลังคาโรงเรือนให้ทั่วด้วยสารคลอรอกซ์ อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือใช้สารฆ่าแมลงไดอะซินอน อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารมาลาไทออน อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อฆ่าแมลงและเชื้อโรคที่สะสมภายในโรงเรือน จากนั้นควรปิดโรงเรือนให้มิดชิด และทิ้งไว้อย่างน้อย 7-10 วัน
สำหรับการเลือกซื้อหัวเชื้อพันธุ์เห็ดหรือถุงก้อนเชื้อเห็ด เกษตรกรควรเลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่ไม่มีประวัติการระบาดของแมลงวันศัตรูเห็ดมาก่อนกรณีที่ไม่ทราบแหล่งที่มาหรือประวัติของถุงก้อนเชื้อเห็ด ในขณะที่เส้นใยเห็ดเดินมากกว่า 25% หรือก่อนเปิดดอก เกษตรกรควรที่จะทำการป้องกันด้วยการพ่นสารคาร์บาริล อัตรา 40-60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นเฉพาะที่จุกสำลีเท่านั้น จากนั้นก่อนการนำเข้าถุงก้อนเชื้อเห็ดเพื่อเปิดดอกในโรงเรือน เกษตรกรควรคัดทิ้งถุงก้อนเชื้อเห็ดที่ถูกทำลายจากศัตรูพืช หรือไม่แน่ใจควรแยกถุงก้อนเชื้อเห็ดกองไว้ต่างหาก
นอกจากนี้ ให้เกษตรกรติดตั้งกับดักกาวเหนียวสีเหลืองชนิดแบนหรือทรงกระบอกชนิดใดชนิดหนึ่ง จำนวน 6-8 ตัว ต่อโรงเรือน (ขนาด 8×20 เมตร) โดยติดตั้งระหว่างชั้นเห็ดที่มีระดับสูงจากพื้นโรงเรือนประมาณ 1.5-1.8 เมตร ที่สำคัญควรติดตั้งในที่ที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานและไม่ถูกน้ำบ่อย ถ้าเป็นไปได้ควรติดตั้งใกล้มุมมืด เพราะตัวแก่ของแมลงชอบเกาะอาศัยอยู่ตรงมุมมืด และควรเปลี่ยนหรือนำกับดักมาล้างด้วยน้ำมันเบนซินและทากาวเหนียวใหม่ทุก 10–15 วันตลอดฤดูการผลิตหรือให้พิจารณาว่าหากมีแมลงติดเต็มแล้วก็ควรนำมาเปลี่ยนหรือทากาวเหนียวซ้ำอีกครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดักจับและลดปริมาณของแมลงที่จะทำลายเห็ดได้
หากพบตัวแก่ของแมลงเกาะตามมุมโรงเรือน ฝาผนัง หรือมุมอับ ให้พ่นด้วยสารกำจัดมาลาไทออน อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดอะซินอน อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นตามพื้นหรือมุมโรงเรือน หรือพื้นที่ที่แมลงเกาะอยู่ หลีกเลี่ยงการพ่นลงบนเห็ดหรือถูกเห็ดโดยตรง อาจเกิดพิษตกค้างในดอกเห็ด และอาจทำให้ดอกเห็ดเกิดอาการผิดปกติจนส่งขายในตลาดไม่ได้ เมื่อเสร็จสิ้นรุ่นของดอกเห็ดแล้ว ให้เกษตรกรนำถุงก้อนเชื้อเห็ดออกผึ่งแดดนอกโรงเรือน หากพบก้อนเชื้อเห็ดที่มีรอยทำลายของหนอนแมลงวันควรทำการฝังหรือเผาทิ้ง เพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์และป้องกันการแพร่กระจายเข้าสู่โรงเรือนเพาะเห็ดข้างเคียงต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เห็ดนางรม (oyster mushroom) เป็นเห็ดที่เกษตรกรนิยมเพาะเลี้ยงกันมากเนื่องจากเป็นเห็ดที่เพาะง่าย มีขั้นตอนของการเพาะเลี้ยงที่ไม่ซับซ้อน สามารถเพาะเลี้ยงได้ในทุกภูมิภาคของประเทศ เกษตรกรในภาคเหนือนิยมเพาะเลี้ยงเห็ดนางรมมากเป็นพิเศษเนื่องจากว่าเป็นเห็ดที่สามารถเพาะเลี้ยงได้ในฤดูหนาวในขณะที่เห็ดเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ ส่วนใหญ่พักตัวในช่วงที่อากาศหนาวเย็น ดังนั้นเห็ดนางรมจึงช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตเห็ดเป็นการค้าได้ตลอดปีนอกจากนี้แล้วเห็ดนางรมยังมีคุณสมบัติพิเศษคือสามารถนำไปแปรรูปได้หลายรูปแบบอีกด้วย
ทั้งนี้ถิ่นกำเนิดของเห็ดนางรมอยู่ในประเทศแถบยุโรปพบได้ทั่วไปในเขตอบอุ่น เห็ดสกุลนี้มีหลายชนิด ขึ้นอยู่ตามตอไม้ผุของต้นไม้ชนิดที่มีใบกว้างหลายชนิดในป่า ผู้คนที่อยู่ในประเทศต่าง ๆ ของยุโรปและของสหรัฐอเมริกาได้นำเห็ดนางรมนานาชนิดมาเพาะเลี้ยง และพบว่าเห็ดชนิดต่าง ๆ ในสกุลของเห็ดนางรมเป็นเห็ดที่เลี้ยงได้บนวัสดุเพาะเลี้ยงที่หลากหลาย เช่น เลี้ยงได้ในวัสดุที่เป็นผลผลิตจากไม้ในลักษณะของขี้เลื่อย กระดาษ และ เศษของเยื่อกระดาษ เศษวัสดุจากต้นของธัญพืช เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด และ กากอ้อย รวมทั้งเศษวัสดุจากการผลิตกาแฟ เช่น กากกาแฟ เปลือกหุ้มเมล็ดกาแฟ ก้านผลกาแฟ และใบกาแฟ เป็นต้น ใบกล้วย กากเมล็ดฝ้าย ใยของใบอะกาเว่ กากถั่วเหลืองและ เศษวัสดุจากพืชอีกหลายชนิดที่มีส่วนประกอบของลิกนินและเซลลูโลสล้วนแล้วแต่ใช้ในการนำมาเพาะเห็ดนางรมได้
สำหรับการเพาะเลี้ยงเห็ดนางรมในไทยนั้นมีรายงานว่า ดร.วินิจ แจ้งศรี ได้นำเชื้อเห็ดนางรมชนิด Pleurotus florida มาจากสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. 2502 และ อาจารย์พันทวี ภักดีดินแดนได้ศึกษาวิจัยจนสามารถเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดนี้ได้สำเร็จใน พ.ศ. 2504 โดยเพาะในวัสดุที่มีฟางข้าวและขี้เลื่อยเป็นวัสดุหลัก และต่อมาได้มีการพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงในถุงพลาสติกและใช้กันแพร่หลายทั่วประเทศ โดยเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดต่าง ๆ ในสกุลเห็ดนางรม ซึ่งได้แก่ เห็ดนางรมฮังการี เห็ดนางรมภูฐาน เห็ดเป๋าฮื้อ และเห็ดนางรมชนิดอื่น ๆ การเพาะเลี้ยงเห็ดในสกุลเห็ดนางรมนี้เพาะเลี้ยงได้ผลดีตลอดปีเพราะว่าเห็ดพวกนี้หลายชนิดมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมแบบต่าง ๆ ได้ดี ทำให้การเพาะเลี้ยงทำได้ง่ายและเพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา