นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตและการตลาดพืชหัว 4 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง ปีเพาะปลูก 2565/66 โดยข้อมูลพยากรณ์ของ สศก. ณ เดือนพฤศจิกายน 2565 คาดว่าปีนี้เนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศของกระเทียม 61,563 ไร่ หอมแดง 57,245 ไร่ หอมหัวใหญ่ 9,509 ไร่ และมันฝรั่ง 41,133 ไร่ ซึ่งเนื้อที่เพาะปลูกของหอมหัวใหญ่และมันฝรั่ง เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.29 และ 1.90 ตามลำดับ เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น
ส่วนกระเทียมและหอมแดงเนื้อที่เพาะปลูกลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.38 และ 1.24 ตามลำดับ เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดี ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่สูง เกษตรกรจึงลดพื้นที่เพาะปลูกลง
ด้านผลผลิตทั้งประเทศของกระเทียม รวม 64,891 ตัน หอมแดง 155,765 ตัน หอมหัวใหญ่ 36,479 ตัน และมันฝรั่ง 123,397 ตัน โดยผลผลิตทั้ง 4 ชนิดเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.72 ร้อยละ 13.39 ร้อยละ 8.87 และร้อยละ 11.31 ตามลำดับ เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต มีปริมาณน้ำที่เพียงพอและไม่มีโรคพืชระบาด
ทั้งนี้ แหล่งผลิตที่สำคัญของพืชหัวทั้ง 4 ชนิดของไทย อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ศรีสะเกษ และนครพนม เป็นต้น โดยเกษตรกรส่วนใหญ่มักจะเริ่มเพาะปลูกในช่วงหลังฤดูทำนาช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน และผลผลิตทั้ง 4 ชนิด ทยอยออกตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง เดือนเมษายน โดยผลผลิตออกมากที่สุดในเดือนมีนาคม 2566
อย่างไรก็ตาม ผลผลิตพืชหัวที่ผลิตในประเทศ ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค ไทยจึงจำเป็น ต้องนำเข้าผลผลิตบางส่วนจากต่างประเทศเข้ามา เช่น จีน อเมริกา และประเทศในกลุ่มยุโรป โดยปี 2565 (มกราคม – พฤศจิกายน 2565) กระเทียมนำเข้าปริมาณ 35,079 ตัน หอมแดง 15,634 ตัน หอมหัวใหญ่ 47,100 ตัน และมันฝรั่ง 66,257 ตัน อย่างไรก็ตาม กระเทียมและหอมแดง มีการนำเข้าลดลงร้อยละ 20.33 และร้อยละ 14.94 ตามลำดับ ในขณะที่หอมหัวใหญ่และมันฝรั่งนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.48 และร้อยละ 7.64 ตามลำดับ
นางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยเพิ่มเติมถึงแนวทางบริหารจัดการพืชหัวทั้ง 4 ชนิดว่า คณะอนุกรรมการจัดการการผลิตและการตลาดกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบมาตรการในการบริหารจัดการผลผลิตเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ โดยเน้นมาตรการกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตที่สำคัญ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการเชื่อมโยงตลาดซื้อขายผลผลิตกระเทียมและหอมหัวใหญ่ล่วงหน้าระหว่างกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกในจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ กับผู้รวบรวมผู้คัดคุณภาพผลผลิต ส่งจำหน่ายให้กับห้างค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ และโรงงานแปรรูป
นอกจากนี้ ได้กำหนดมาตรการที่สำคัญอื่นๆ เพื่อดำเนินการควบคู่กันไปด้วย เช่น มาตรการปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ การดำเนินการตรวจสอบสต๊อกสินค้าของผู้ประกอบการและผู้นำเข้าเพื่อป้องกันการกักตุนเพื่อเก็งกำไร ทั้งนี้ ในทุกๆ มาตรการ สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ จะได้ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ได้วางไว้ พร้อมทั้งจะได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยท่านที่สนใจข้อมูลการผลิตและการตลาด รวมทั้งแนวทางบริหารจัดการของคณะอนุกรรมการจัดการการผลิตและการตลาดกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง สามารถติดต่อสอบถามขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนวิจัยเศรษฐกิจพืชสวน สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 0 2579 0612 ในวันและเวลาราชการ