ก่อนตรุษจีนติดตามท่านอธิบดีกรมปศุสัตว์ไปตลาด อ.ต.ก.ดูร้านขายเนื้อขายหมูที่ได้รับตรา“ปศุสัตว์ OK” นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์บอกขุนพิเรนทร์ว่า ตราปศุสัตว์ OK เวลานี้มีอยู่ประมาณ 10,000 แห่งทั่วประเทศ และกรมปศุสัตว์จะขยายให้ครอบคลุมมากกว่าเดิม ส่วนจุดเด่นของปศุสัตว์ OK คือเป็นสินค้าทางปศุสัตว์ที่มีคุณภาพและผ่านการรับรองมาตรฐาน
กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยอาหาร (Food safety) มุ่งคุ้มครองผู้บริโภคให้บริโภคอาหารปลอดภัย ได้ให้ความสำคัญดำเนินงานและโครงการต่างๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยอาหารมาตลอดอย่างต่อเนื่อง ได้ดำเนินโครงการ “ปศุสัตว์ OK” มาตั้งแต่ปี 2558 โดยผลักดันให้เกษตรกร ภาคเอกชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความปลอดภัยในอาหารแก่ผู้บริโภค
ปศุสัตว์ OK เป็นสัญลักษณ์สำหรับสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ว่าจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขลักษณะ มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานทุกขั้นตอน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าได้เลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัย
ขุนพิเรนทร์ สนใจร้านเนื้อในตลาดอตก.อยู่หลายร้าน บางร้านมีเนื้อห้อยอยู่เหมือนบรรยากาศร้านขายเนื้อแถวๆบ้านไอ้ขุน นึกถึง “อีสานลาบก้อย” ขึ้นมาทันที
ที่สะดุดตาและมีความสนใจเป็นพิเศษคือร้านขายเนื้อโคขุนที่มีการตัดแต่งหลากหลายรูปแบบ ทั้งตัดเป็นสเต็ก เป็นเนื้อสำหรับทำชาบู – ปิ้งย่าง ตามสมัยนิยมของไทย พอได้สอบถามจากร้านยิ่งมีความอยากรู้ตลาดบนโคขุนบ้านเราเวลานี้ไปไกลมาก เกษตรกรเลี้ยงโคขุน หรือโคเนื้อที่มีคุณภาพมากขึ้น
“โคเนื้อบ้านเราอร่อยนะพี่ ยิ่งเป็นโคขุนตอนนี้ได้รับความนิยมมาก”
คำพูดสั้นๆแต่กระตุกต่อมอยากรู้ของขุนพิเรนทร์ยิ่งนัก พอมีจังหวะได้ถามท่านอธิบดีกรมปศุสัตว์ ซึ่งได้คำตอบว่า “บ้านเรามี โคอยู่ 9,394,111 ตัว โคพื้นเมือง 4,900,000 ตัว โคพันธุ์แท้ 141,887 ตัว โคลูกผสม 4,056,274 ตัว โคขุน 295,239 ตัว”
จังหวัดที่มีการเลี้ยงโคเนื้อหนาแน่น จากสถิติจำนวนโคเนื้อของกรมปศุสัตว์ ปี 2565 พบว่าจังหวัด ที่มีการเลี้ยงโคเนื้อมากที่สุด 5 อันดับ ซึ่งมีโคเนื้อมากกว่า 5 แสนตัวขึ้นไป จะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกือบทั้งหมด โดยเป็นจังหวัดในพื้นที่ปศุสัตว์เขต 3 ทั้งหมด ได้แก่
1. จังหวัดสุรินทร์ โคเนื้อ 579,746 ตัว
2. จังหวัดนครราชสีมา โคเนื้อ 538,870 ตัว
3. จังหวัดอุบลราชธานี โคเนื้อ 530,087 ตัว
4. จังหวัดบุรีรัมย์ โคเนื้อ 526,368 ตัว
5. จังหวัดศรีสะเกษ โคเนื้อ 521,843 ตัว
ถึงตรงนี้ ไอ้ขุนนึกในใจ มหาสารคามบ้านเกิดไอ้ขุน เมืองหลวงลาบก้อย ไม่ติดหนึ่งใน 5 แต่เชื่อแน่ว่า ไม่เกิดอันดับ 10 แน่ และที่สำคัญ บ้านไอ้ขุนเนื้อลาบก้อยนี่กิโลละ 330 นะ ไม่ได้ถูกๆเลยในขณะที่เนื้อลาบก้อยในกรุงเทพ โลละ 270 บาท พับผ่าเถอะ สารคามน่าจะนำเข้าวัวมาจากที่อื่นแน่ๆแบบนี้
เอามาเรื่องการตลาดเวลานี้ ท่านอธิบดีบอกว่า ทุกวันนี้ตลาดบ้านเราคึกคักทั้งตลาดในบ้านและตลาดส่งออก แต่มีปัจจัยลบที่เราเป็นห่วงอยู่เหมือนกัน เช่น การเปิดเขตการค้าเสรี FTA ไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ ตั้งแต่ปี 2564 ทำให้ราคา นำเข้าเนื้อโคคุณภาพต่ำกว่าราคาเนื้อโคคุณภาพในประเทศส่งผลกระทบต่อสัดส่วนการตลาดในธุรกิจโรงแรม และ ร้านอาหารลดลง
หากจะทำโคขุนโคเนื้อส่งจีนซึ่งมีการกำหนดให้โคนำเข้าต้องเป็นโคลูกผสมอเมริกันบราห์มัน หรือลูกผสมยุโรปทุกสายพันธุ์ ต้องมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 350 – 400 กิโลกรัม ต้องมีอายุไม่เกิน 4 ปี ปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยและปลอดการใช้สารเร่งเนื้อแดง
ท่านอธิบดีเน้นย้ำกับขุนพิเรนทร์ว่า เรื่องการใช้สารเร่งเนื้อแดงเป็นเรื่องสำคัญ ทุกวันนี้ไม่ใช่มีแค่สุกร แต่ลามมาที่โคขุน โคเนื้อ การใช้สารเร่งเนื้อแดงเป็นข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข และ กรมปศุสัตว์กำหนดให้อาหารทุกชนิดในประเทศไทย ต้องปลอดจากการใช้สารเร่งเนื้อแดง หรือ สารเคมีกลุ่มเบตาอะโกนิสต์ (Beta-Agonist)
อธิบดีกรมปศุสัตว์ บอกว่า ได้หารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้แก่ สมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงโคพันธุ์บราห์มัน สมาคมผู้บำรุงพันธุ์ โคพันธุ์บราห์มันแห่งประเทศไทย สมาคมโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน สหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน จำกัด
สมาคมบีฟมาสเตอร์แห่งประเทศไทย สหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ จำกัด สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์กรป.กลางโพนยางคำ จำกัด สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยฯ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ บริษัทอิบรอฮิม แอนด์บีฟ จำกัด บริษัทนิดาฟู้ด จำกัด รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจการเลี้ยงโคเนื้อ เพื่อร่วมกันพิจารณามาตรการป้องกันและปราบปรามการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดง
กรมปศุสัตว์ได้กำหนดมาตรการ ดังนี้
1.สอดส่องและจับกุมการขายสารเร่งเนื้อแดงผ่านช่องทางออนไลน์ โดยตั้งทีมเฉพาะกิจทางไซเบอร์ขึ้นมาดำเนินการ
2.สุ่มเก็บตัวอย่างเนื้อโคเพื่อตรวจหาการตกค้างของสารเร่งเนื้อแดง หากพบจะตรวจสอบย้อนไปยังฟาร์มเลี้ยงโคและแหล่งผลิต
3. สุ่มเก็บตัวอย่างปัสสาวะในโคขุนที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยใช้ชุดทดสอบภาคสนาม (strip test) เพื่อตรวจสอบการใช้สารเร่งเนื้อแดง
ที่ผ่านมาอธิบดีกรมปศุสัตว์ บอกว่า ได้ดำเนินการป้องกันและปราบปรามการใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 สามารถจับกุมดำเนินคดีได้ 11 คดี มีโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับดังนั้นจึงขอเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุน ห้ามนำสารเร่งเนื้อแดงมาใช้ในการเลี้ยงโค นอกจากจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายแล้วยังส่งผลที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอีกด้วย
ฟังท่านอธิบดีเล่าให้ฟังก็ได้แต่อึ้งๆ เรื่องการใช้สารเร่งเนื้อแดงเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับผู้บริโภคและเรื่องการส่งออกด้วย ขุนพิเรนทร์ ได้ฟังท่านอธิบดีแล้วนึกในใจ คนเรานี่ก็แปลก เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้
นี่ถ้าส่งออกโคขุนไม่ได้จะทำอย่างไร ในประเทศตลาดโคขุนกำลังจะโตขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเจอสารเร่งเนื้อแดงเข้าไปอีก ผู้บริโภคเขาจะกล้ากินกันหรือ พังตลาดตัวเอง พังตลาดต่างประเทศ ฉิบหายเพราะความเห็นแก่ได้ของคนไม่กี่กลุ่ม
วิงวอนกันตรงๆหละครับ จะสะเต็กหรือลาบก้อย ก็ขอให้ปลอดภัยจากสารเร่งเนื้อแดง หากไม่มั่นใจก็ให้ซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้อย่างร้านที่มีตราปศุสัตว์ OK ส่วนพี่น้องเกษตรกรก็เฝ้าระวังตักเตือนกัน ส่งข่าวให้กัน การใช้สารเร่งเนื้อแดงผิดกฎหมายทำลายวงการปศุสัตว์
หากประชาชนพบเห็นผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการใช้สารเร่งเนื้อแดงในโค ให้แจ้งเบาะแสผ่าน Application DLD 4.0 หรือผ่านทางศูนย์รับข้อร้องเรียนกรมปศุสัตว์ โทรศัพท์ 02 6534444 ต่อ 2134