“ลูกชิด” ทำมาจากอะไร ทำไมต้องเรียกว่า “ลูกชิด”…หลายคนคงคิดว่า ลูกชิดก็คือลูกจาก จริง ๆ แล้วลูกชิดกับลูกจากมีที่มาจากคนละต้น โดยลูกชิดมาจากต้นตาวหรือต้นต๋าว ส่วนลูกจากมาจากต้นจาก เดิมพืชทั้งสองชนิดนี้ถูกจัดแบ่งอยู่ในวงศ์ที่แตกต่างกัน โดยต๋าวจัดอยู่ในวงศ์ PALMACEAE หรือ PALMAE ส่วนจากอยู่ในวงศ์ NYPACEAE แต่ปัจจุบันพืชทั้งสองชนิดถูกจัดอยู่ในวงศ์เดียวกัน คือ ARECACEAE
ต๋าว (Sugar palm) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Arenga pinnata (Wurmb) Merr. เป็นพืชตระกูลปาล์ม (ARECACEAE) เช่นเดียวกับมะพร้าวและตาล มีชื่อท้องถิ่นแตกต่างกันไป เช่น ตาว ชิด (ภาคกลาง) ตาว ต๋าว มะต๋าว (ภาคเหนือ) ฉก ชก (ภาคใต้)
ต้นต๋าว มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมและกระจายพันธุ์อยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศอินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และลาว สำหรับประเทศไทยจะพบต้นต๋าวบริเวณผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และความชื้นสูง หรือตามเชิงเขาในบริเวณที่มีดินร่วนและมีอากาศชุ่มชื้น โดยพบมากในเขตจังหวัดกาญจนบุรี พิษณุโลก ตาก อุตรดิตถ์ แพร่ เชียงราย เชียงใหม่ และน่าน
ลักษณะทั่วไป
ต๋าว เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีลำต้นเดี่ยว (Solitary) ไม่มีกิ่งก้านแขนงออกมาด้านข้าง มีความสูง 6-15 เมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกันเช่นเดียวกับใบมะพร้าวแต่ขนาดใหญ่และแข็งกว่า หลังจากปลูกไปแล้ว 6-10 ปี จะเริ่มติดดอก โดยในต้นเดียวกันจะมีทั้งช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียแต่อยู่คนละช่อดอกกัน และออกดอกครั้งเดียว ระยะเวลาตั้งแต่ออกดอกจนเป็นผลประมาณ 1-2 ปี
ต๋าว จะออกผลเป็นทะลาย มีหลายแขนงไม่มีก้านผล ใน 1 ต้นจะมีผลประมาณ 5-6 ทะลาย โดยเริ่มติดผลทะลายแรกจากกาบใบบนสุดลงมาข้างล่าง ระยะเวลาตั้งแต่ติดผลทะลายแรกจนถึงทะลายสุดท้ายตามจำนวนทะลาย (โดยเฉลี่ยปีละ 1 ทะลาย) ต๋าว 1 ทะลาย จะมีประมาณ 50 เส้นขึ้นไป แต่ละเส้นจะมีผลต๋าวประมาณ 80-110 ผล ดังนั้น 1 ทะลายจะมีผลต๋าวประมาณ 4,000 ผล ผลสุกแก่มีสีเขียวเข้มจนถึงม่วงดำ ขนาดผล 3-5 เซนติเมตร ในแต่ละผลจะมีเมล็ดอยู่ 2-3 เมล็ด
ส่วนที่เรานำมารับประทาน คือ เนื้อในของเมล็ดอ่อนหรือเอนโดสเปิร์ม (Endosperm) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ลูกชิด” โดยเมล็ดอ่อนจะมีสีขาวขุ่น หากแก่จะมีสีดำและมีเปลือกแข็งห่อหุ้ม ส่วนสาเหตุที่เราเรียกว่า “ลูกชิด” เนื่องจากในแต่ละผลจะมีเมล็ดเรียงชิดกันอยู่ รสชาติของลูกชิดจะมีรสจืด ถ้ายังไม่แก่จัดจะมีรสฝาด ต้นต๋าวเมื่อออกดอกและผลทะลายสุดท้ายสุกแก่แล้ว ลำต้นก็จะค่อย ๆ โทรมลงและตายในที่สุดเช่นเดียวกับลานและเต่าร้าง แต่วงจรชีวิตดังกล่าวอาจใช้เวลานานถึง 20 ปี
การปลูกและการเก็บเกี่ยวผลผลิตต๋าว :
1.การขยายพันธุ์
ในป่าธรรมชาติ ต๋าวจะขยายพันธุ์ต้นต๋าวได้เอง โดยเมื่อผลสุกและเมล็ดแก่จัดจะตกหล่นบริเวณใต้ต้นแม่และทำหน้าที่ขยายพันธุ์ต่อไป อย่างไรก็ตาม ต้นต๋าวสามารถขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดได้ ซึ่งระยะเวลาตั้งแต่เพาะเมล็ดจนเป็นกล้าพร้อมปลูกประมาณ 1-1.5 ปี ขั้นตอนการเพาะเมล็ด มีดังนี้
1) การคัดเมล็ด : นำเมล็ดแก่ไปแช่น้ำเพื่อคัดแยกเมล็ดดี-เสียออกจากกัน (เมล็ดดีจะจมน้ำ เมล็ดเสียจะลอยน้ำ)
2) การบ่มเมล็ด : นำขุยมะพร้าวแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน บรรจุลงในถุงพลาสติกใส/ดำ แล้วนำเมล็ดดีลงไปบ่ม มัดปากถุงให้แน่น นำไปไว้ในที่ร่มประมาณ 1 เดือน จะมีรากงอกออกมาจากเมล็ด หากต้องการเพิ่มอัตราการงอกของเมล็ด ให้นำขุยมะพร้าวไปนึ่งฆ่าเชื้อประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วนำมาผึ่งให้เย็น จากนั้นนำขุยมะพร้าวบรรจุลงในถุงพลาสติกสีดำ นำเมล็ดดีมาเปิดจุดงอกก่อนนำลงไปบ่ม มัดปากถุงให้แน่น ทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน วิธีการนี้จะทำให้ต้นกล้าต๋าวงอกเกือบทั้งหมดและมีอัตราการงอก 95-100 % สิ่งสำคัญของการบ่มเมล็ด คือ ในขณะที่บ่มเมล็ดต๋าว ไม่ต้องเติมน้ำหรือให้ความชื้นกับขุยมะพร้าวอีก เนื่องจากจะทำให้เกิดการปนเปื้อนจากเชื้อราหรือแบคทีเรียได้
3) การเตรียมวัสดุเพาะและย้ายเมล็ดลงถุงเพาะชำ : เตรียมวัสดุเพาะโดยใช้ขี้เถ้าแกลบ : ทราย : ปุ๋ยคอก : ดิน ในอัตราส่วน 1 : 1 : 1 : 1 บรรจุลงในถุงเพาะชำ ขนาด 3×5 นิ้ว นำเมล็ดที่งอกแล้วย้ายลงปลูกในถุงเพาะชำ โดยใช้ไม้จิ้มนำเพื่อเปิดทางก่อนแล้วสอดเฉพาะส่วนรากที่งอกแล้วลงในช่องเปิดของวัสดุปลูก ให้เมล็ดต๋าวอยู่เหนือดิน เพื่อป้องกันรากกระทบกระเทือนและหัก รดน้ำให้ชุ่มทุกวัน ประมาณ 1 เดือน กล้าต๋าวจะเริ่มแตกใบแรกออกมาและภายในเดือนที่ 2 จะแตกใบใหม่ 2-3 ใบ
4)หลังจากปลูกได้ 2-3 เดือนทำการย้ายต้นกล้าต๋าวลงปลูกในถุงเพาะชำขนาด4×6 นิ้วหากมีรากต้นกล้าต๋าวแทงออกมานอกถุงเพาะชำให้ทำการตัดรากก่อน เพื่อกระตุ้นให้ต้นกล้าต๋าวแตกใบใหม่ รดน้ำสม่ำเสมอ
5) หลังจากนั้น 9 เดือน-1 ปี จะได้ต้นกล้าต๋าวพร้อมปลูก
2.การปลูกและการดูแลรักษา
ช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่การนำต้นกล้าลงปลูกมากที่สุด คือ ช่วงเริ่มต้นของฤดูฝน (พฤษภาคม-มิถุนายน) โดยระยะปลูกที่แนะนำ คือ 6×6 เมตร ขุดหลุมขนาด 40x40x40 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยอินทรีย์ การย้ายต้นกล้าลงปลูกควรตั้งลำต้นให้ตรงโดยให้ผิวดินในถุงเพาะเสมอกับผิวดินของหลุมที่เตรียมไว้ กลบดินให้แน่น นำไม้หลักมาปักและผูกกับต้นต๋าวเพื่อป้องกันต้นล้ม ส่วนการดูแลรักษา ต๋าวเมื่อปลูกไปแล้วส่วนใหญ่เกษตรกรจะไม่มีการดูแลรักษาใด ๆ มีเพียงการปลูกซ่อมหรือปลูกเสริมในพื้นที่เท่านั้น
3.การเก็บเกี่ยวผลผลิต
ในประเทศไทย ผลผลิตต๋าวส่วนใหญ่จะเก็บในลักษณะที่เป็นผลผลิตจากป่า (Non wood forest product: NWFP) ส่วนการปลูกต๋าวเพื่อการค้ามีไม่มากนัก การเก็บเกี่ยวผลผลิตเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน-ธันวาคม (บางพื้นที่อาจจะเก็บได้ถึงเดือนมีนาคมของปีถัดไป) อุปกรณ์ที่จำเป็นในการเก็บผลผลิตต๋าวแต่ละครั้ง ได้แก่ (1) กะละมังหรือหม้อสำหรับต้มเมล็ดต๋าว (2) เครื่องมือ/อุปกรณ์สำหรับบีบเมล็ดต๋าว และ (3) มีด สำหรับการแต่งกายสำหรับไปเก็บต๋าว เกษตรกรนิยมสวมเสื้อผ้ามิดชิด ใส่ถุงมือ บางรายใส่แว่นตาด้วย เนื่องจากผลต๋าวจะมีน้ำยาง หากถูกผิวหนังจะทำให้ระคายเคืองผิวและคันมาก
ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลผลิตต๋าว
1) ผลสุกแก่จะมีสีเขียวเข้มหรือม่วงดำ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้วิธีการสังเกตและประสบการณ์ เมื่อเลือกทะลายที่ผลผลิตต๋าวสุกแก่พร้อมเก็บเกี่ยวแล้วให้ใช้มีดตัดทะลายต๋าวทั้งทะลายหรือตัดทีละเส้นก็ได้ จากนั้นใช้มีดตัดผลต๋าวออกจากทะลายเป็นผลย่อย ข้อควรระวัง คือ ในการหั่นผลย่อยออกจากทะลาย ให้ระมัดระวังน้ำยางบริเวณขั้วและเปลือกผล เพราะหากถูกผิวหนังจะทำให้ระคายเคืองและคันมาก
2) นำไปต้มในน้ำเดือดประมาณ 30-45 นาที เพื่อให้ยางที่เปลือกจับตัวและทำให้เปลือกอ่อนตัว ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการบีบเอาเนื้อในของเมล็ดออก นำผลต๋าวขึ้นมาล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง แล้วทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ
3) การบีบเมล็ดต๋าว มี 2 วิธี คือ (1) ใช้ปลายช้อนแคะ และ (2) ใช้เครื่องบีบเมล็ดต๋าว ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรจะใช้ไม้หรือเครื่องมืออย่างง่ายที่มีน้ำหนักเบาเนื่องจากการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลผลิตมักทำให้เสร็จในป่า เมื่อบีบเอาเมล็ดในออกมาจนได้เป็น “ลูกต๋าวหรือลูกชิด” นำไปล้างด้วยน้ำสะอาด 1 ครั้ง คัดเศษเปลือกที่ติดมาออก (หากจะส่งโรงงานแปรรูปต๋าว ก็นำไปบรรจุถุงหรือกระสอบเตรียมส่งให้ผู้รับซื้อได้เลย)
4) หากจะนำมารับประทานหรือจำหน่ายปลีก หลังจากล้างต๋าวด้วยน้ำสะอาดแล้ว คัดเมล็ดเสียหรือเมล็ดที่มีสีคล้ำออก บางเมล็ดอาจยังมี Embryo (ส่วนเจริญเป็นลำต้นใหม่) อยู่ ให้ใช้มือบีบออก เพราะหากรับประทานเข้าไปอาจจะทำให้คันได้ จากนั้นนำเมล็ดต๋าวไปแช่ในน้ำสะอาด เปลี่ยนน้ำทุกวัน ประมาณ 1-3 วัน หรือจนกว่าเมล็ดต๋าวจะสะอาดใส ก็จะได้เป็น “เมล็ดต๋าวสด” ก่อนนำไปรับประทานหรือจำหน่ายปลีก ให้นำเมล็ดต๋าวไปต้มในน้ำเดือดประมาณ 2-3 นาที นำขึ้นมาสะเด็ดน้ำ จะรับประทานหรือบรรจุถุงเก็บไว้ในตู้เย็นได้นาน 1-2 เดือน หรือจำหน่ายปลีกก็ได้
ผลตอบแทนจากการจำหน่ายผลผลิต
จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลของเกษตรกรในพื้นที่ดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(สวพส.)ปัจจุบัน เกษตรกรมีการจำหน่ายผลผลิตต๋าวใน 2 รูปแบบ คือ จำหน่ายปลีกภายในชุมชนและส่งผลผลิตให้โรงงานแปรรูป โดยราคาการจำหน่ายปลีกของเมล็ดต๋าวสดที่ต้มแล้วพร้อมรับประทานจะอยู่ระหว่าง 50-60 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาจำหน่ายของผลผลิตเมล็ดต๋าวสด (ยังไม่ผ่านการต้ม) ที่ส่งให้โรงงานแปรรูปจะอยู่ระหว่าง 450-500 บาทต่อถังหรือ 25-30 บาทต่อกิโลกรัม สร้างรายได้ให้กับครัวเรือนประมาณ 35,000-40,000 บาทต่อปี
การใช้ประโยชน์ :
ผลหรือเมล็ดต๋าว
เมล็ดต๋าวสดหรือลูกชิดสามารถนำมาต้มรับประทานแบบจืด (ไม่เติมน้ำตาล) ได้เลย ซึ่งถือเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ (อาหารคลีน คีโตทานได้) เนื่องจากมีแคลอรี่ต่ำและใยอาหารสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับพืชตระกูลปาล์มชนิดอื่น นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารได้ทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน เช่น แกง ผัด ยำ ของหวาน และเบเกอรี่ รวมไปถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ลูกชิดในน้ำเชื่อม ลูกชิดแช่อิ่มอบแห้ง และแยมลูกชิดผสมผลไม้ชนิดอื่น เป็นต้น
ส่วนอื่นๆ ของต้นต๋าว
1) ลำต้น : สามารถนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้ และตอของต้นต๋าวที่ตายแล้วสามารถใช้เลี้ยง “ด้วงสาคูหรือด้วงมะพร้าว” เพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งได้ นอกจากนี้ เส้นใยจากลำต้น สามารถนำมาใช้ทำเป็นแปรงได้
2) หน่ออ่อนหรือแกนในของลำต้น : สามารถนำมาใช้ประกอบอาหารยอดอ่อนของมะพร้าว เช่น การทำเป็นแกงหรือใส่ข้าวเบือน เป็นต้น
3) ใบ : ใบแก่สามารถนำมาใช้มุงหลังคา กั้นฝาบ้าน ตกแต่งงานรื่นเริงในหมู่บ้าน หรือนำมาใช้จักสานตะกร้า ส่วนใบอ่อนนำมาใช้ทำเป็นมวนบุหรี่ ส่วนก้านใบเมื่อนำมาเหลารวมกันทำเป็นไม้กวาด และก้านทางใบนำมาใช้ทำฟืนสำหรับก่อไฟ
4) ยอดอ่อน ใบอ่อน : นึ่งรับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกหรือนำไปแกงได้
5) งวงตาวหรือดอกตาว : สามารถนำมาทำเป็นน้ำตาลคล้ายกับน้ำตาลโตนดได้
สถานการณ์ปัจจุบัน :
ปัจจุบัน ต้นต๋าวเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่งของประเทศไทย เนื่องจาก ต้นต๋าวส่วนใหญ่จะเป็นต้นที่มีในป่าธรรมชาติอยู่เดิมแล้ว การปลูกต๋าวในพื้นที่ทำกินหรือพื้นที่เกษตรยังมีไม่มากนัก การลดลงอย่างรวดเร็วของต้นต๋าวในป่าธรรมชาติอาจมาจากหลายสาเหตุ กล่าวคือ พืชชนิดนี้เป็นพืชที่ออกดอกเพียง 1-2 ครั้ง และเมื่อดอกผลและเมล็ดแก่ลง ลำต้นก็จะค่อย ๆ โทรมลงและตายในที่สุด แต่วงจรชีวิตดังกล่าวอาจใช้เวลานานถึง 20 ปี การเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ไม่ถูกวิธีเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้นต๋าวลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เช่น การโค่นต้นเพื่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือการเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งหมดโดยไม่เหลือทิ้งผลบางส่วนเพื่อการขยายพันธุ์ รวมไปจนการตัดทำลายต้นอ่อนที่มีอายุประมาณ 3-6 ปี เพื่อเอายอดอ่อนซึ่งมีรสชาติที่หวานกรอบคล้ายยอดอ่อนของมะพร้าวมารับประทาน
นอกจากนี้ ต้นต๋าวจะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และความชื้นค่อนข้างสูง การลดลงของพื้นที่ป่าในประเทศไทยก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้นต๋าวมีปริมาณลดลงด้วย สำหรับความต้องการผลผลิตต๋าวในประเทศไทย ปัจจุบันผลผลิตต๋าวยังเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ในขณะที่ลูกชิดกลับหายากขึ้น โรงงานแปรรูปส่วนใหญ่จึงนำเข้าผลผลิตต๋าวประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแหล่งผลิตต๋าวที่สำคัญ คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
นอกจากนี้ ในกระบวนการแปรรูปลูกชิด ยังพบปัญหาเกี่ยวกับการตกค้างของสารฟอกขาวในปริมาณสูง ซึ่งส่วนใหญ่โรงงานแปรรูปนิยมใช้สารกลุ่มซัลไฟต์ คือ โซเดียมเมตาไบซัลไฟต์ หรือโพแทสเซียม-เมตาไบซัลไฟต์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภคได้
ดังนั้น การใช้สารกลุ่มซัลไฟต์ในระดับที่เหมาะสมและปลอดภัย หรือการใช้สารทดแทนชนิดอื่นเพื่อคงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในระหว่างการเก็บรักษาและการจำหน่าย จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ผลิต นอกจากนี้การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากลูกชิดโดยไม่ใช้สารเคมีในการแปรรูป เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อสร้างความมั่นใจในด้านคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากลูกชิด รวมถึงเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพสำหรับผู้บริโภค และสร้างความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคด้วย
ที่มาข้อมูล : สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง( องค์การมหาชน)