เมื่อ 30 ปีก่อน จีนนำเข้าส้มสีเลือดสายพันธุ์ทาร็อคโคจากอิตาลี ปัจจุบันได้รับการพัฒนาสู่สายพันธุ์จือจงและกลายเป็นอุตสาหกรรมหลักของอำเภอจือจง เมืองเน่ยเจียง มณฑลเสฉวน รวมทั้งยังได้รับการรับรองให้เป็นผลไม้บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แห่งชาติประจำอำเภอจือจง
อำเภอจือจงมีพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตส้มสีเลือดมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศจีน และเป็นฐานอุตสาหกรรมส้มสีเลือดที่คุณภาพดีและมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ทั้งนี้ อำเภอจือจงมีระบบอุตสาหกรรมการเกษตรแบบครบวงจร ครอบคลุมการวิจัยพัฒนา การผลิต การแปรรูป การจัดเก็บ การขนส่ง การจำหน่าย การสร้างแบรนด์ และการบริการ
เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 อำเภอจือจงจัดพิธีเปิดตัวการส่งออกส้มสีเลือดสู่ประเทศไทย ปี 2566 โดยส่งออกส้มสีเลือดจำนวน 100 ตันด้วยระบบโซ่ความเย็นไปยังประเทศไทยผ่านเส้นทางหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road) ซึ่งใช้เวลาเพียง 3 วันเท่านั้น
อำเภอจือจงให้ความสำคัญกับการบุกตลาดต่างประเทศ มีการส่งออกส้มสีเลือดไปยังยังประเทศรัสเซียและภูมิภาคอาเซียน และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 อำเภอจือจงได้จัดงานประชาสัมพันธ์ส้มสีเลือดครั้งยิ่งใหญ่ ณ ห้างสรรพสินค้าไอคอนสยามในกรุงเทพฯ ทำให้ผู้ที่อยู่ในแวดวงการจำหน่ายผลไม้และการค้าในประเทศไทยมีความเข้าใจเกี่ยวกับ“ส้มสีเลือด”
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู ลงพื้นที่สำรวจเขตสาธิตการเพาะปลูกส้มสีเลือดจือจง ซึ่งเพาะปลูกภายใต้แนวคิดการเกษตรผสมผสาน โดยเลี้ยงปลาดุกและปลูกส้มสีเลือดจือจงในพื้นที่เดียวกัน สามารถใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ สร้างรายได้ให้เกษตรกรอำเภอจือจงได้มากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันเขตฯ มีส้มสีเลือดจือจงที่ได้รับการวิจัยและพัฒนากว่า 10 สายพันธุ์ ซึ่งมีคุณภาพและรสชาติดีกว่าสายพันธุ์ทาร็อคโคที่นำเข้ามาจากอิตาลีเมื่อ 30 ปีก่อน โดยส้มสีเลือดจือจงมีสีส้มอมแดง มีความชุ่มฉ่ำ รสชาติหวานอมเปรี้ยว อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และมีกลิ่นหอมคล้ายกับกลิ่นกุหลาบ
การปลูกส้มสีเลือดให้มีคุณภาพดี ต้องใช้ดิน น้ำ อากาศที่เหมาะสมและต้องอาศัยความแตกต่างของอุณหภูมิเพื่อให้ส้มมีรสชาติหวานมากขึ้น ปัจจุบันไทยยังไม่สามารถปลูกส้มสีเลือดได้จึงต้องอาศัยการนำเข้าจากอำเภอจือจง
อุตสาหกรรมส้มสีเลือดในอำเภอจือจงกำลังพัฒนาไปได้ด้วยดี มีพื้นที่ครอบคลุม 22 ตำบล รวม 186.66 ล้านตารางเมตร คิดเป็นร้อยละ 60 ของพื้นที่ปลูกส้มสีเลือดทั่วประเทศจีน มีผลผลิตต่อปีมากกว่า 400,000 ตัน เป็นอุตสาหกรรมหลักในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ช่วยทำให้ชาวบ้านในโครงการขจัดความยากจนมีรายได้สุทธิสูงกว่า 11,000 หยวน/ปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.41
ไทยและจีนต่างก็มีสินค้าการเกษตรที่มีคุณภาพ และมีความได้เปรียบด้านการเกษตรที่แตกต่างกัน เป็นโอกาสอันดีสำหรับความร่วมมือทางการเกษตรระหว่างกัน ไทยนิยมส่งออกผลไม้มายังจีน อาทิ ทุเรียน มังคุด ลำไย ฯลฯ และจีนเริ่มส่งออกส้มสีเลือดจือจงไปบุกตลาดประเทศไทย ปัจจุบัน ได้มีการเปิดเส้นทางการขนส่งแห่งใหม่ขึ้นหลายแห่ง ทำให้การขนส่งเพื่อกระจายสินค้าไปยังเมืองทางตะวันตกของจีนสะดวกขึ้น ประกอบกับการใช้นโยบายกรอบความร่วมมือ RCEP และรถไฟจีน-ลาว-ไทย จะช่วยส่งเสริมและยกระดับความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตรระหว่างจีนและไทยสู่ความยั่งยืน รวมถึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยควรรีบคว้าไว้