ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรอันดับ 13 ของโลกทำให้สินค้าเกษตรของไทยต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นหลัก แต่ปัจจุบันสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศภายใต้ความท้าทายที่มากขึ้นในหลายมิติ
ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศการเกิดโรคอุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ การก้าวกระโดดของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ความเข้มงวดของกฎระเบียบทางการค้าและข้อตกลงระหว่างประเทศ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ตลอดจนความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ต้นทุนการผลิตภาคการเกษตรเพิ่มสูงขึ้น
แต่สถิติภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในช่วง 11 เดือนของปี 2565 (มกราคม – พฤศจิกายน 2565) ยังคงแข็งแกร่ง โดยภาพรวมการค้าไทยกับทั่วโลก คิดเป็นมูลค่า1,553,822 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่มีมูลค่า 1,273,761 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 22)
ซึ่งการดำเนินงานต่าง ๆ ทุกหน่วยงานได้ร่วมกันขับเคลื่อน ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหดรณ์ ได้แก่ 1) ตลาดนำการผลิต 2) เทคโนโลยีเกษตร 4.0 3) “3 S” เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคงและเกษตรยั่งยืน 4) เกษตรกรรมยั่งยืน และ 5) บูรณาการทำงานเชิงรุกกับทุกภาคส่วน
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพิจารณาเฉพาะการค้าระหว่างไทยกับประเทศที่ไทยทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ซึ่งไม่นับรวมประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลีอินเดีย ฮ่องกง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่า ภาพรวมการค้าอยู่ที่ 901,284 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.52)
โดยการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย มีมูลค่ากว่า 698,500 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.82) และนำเข้าเป็นมูลค่า 202,784 ล้านบาท ทั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าคิดเป็นมูลค่า 495,716 ล้านบาทตลาดส่งออกที่มีมูลค่ามากที่สุด ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สาธารณรัฐเกาหลี และออสเตรเลีย ตามลำดับ
สำหรับสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด ได้แก่ ผลไม้ มูลค่า 164,793 ล้านบาท ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลา หรือสัตว์น้ำ 97,145 ล้านบาท ยางพารา 83,919 ล้านบาท พืชผักเพื่อบริโภค มูลค่า 49,052 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์แป้งธัญพืช 41,451 ล้านบาท ไขมันและน้ำมันที่ได้จากสัตว์ หรือพืช มูลค่า 40,521 ล้านบาท และน้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล มูลค่า 33,638 ล้านบาท เป็นต้น
ทั้งนี้ สำหรับความตกลงการค้าเสรีฉบับล่าสุดของไทย (RCEP) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 พบว่า ภาพรวมการค้ามีมูลค่ากว่า 1,286,028 ล้านบาท โดยการส่งออก มีมูลค่ากว่า 971,508 ล้านบาทและนำเข้ามีมูลค่ากว่า 314,520 ล้านบาท
นอกจากนี้ การค้าสินค้าเกษตรของไทยกับอาเซียน 9 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาวมาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ และเวียดนาม ระหว่างเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2565 เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 พบว่า ภาพรวมการค้ามูลค่าการค้ารวม 502,353 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.56)
โดยการส่งออกสินค้าเกษตรไทย มีมูลค่า 351,631 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.55) และนำเข้าเป็นมูลค่า150,722 ล้านบาท ทั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า คิดเป็นมูลค่า 200,909 ล้านบาท โดยที่ไทยส่งออกไปยัง มาเลเซีย เป็นอันดับหนึ่ง และรองลงมา ได้แก่ อินโดนีเซีย และกัมพูชา ตามลำดับ สินค้าเกษตรส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) น้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล อาทิ น้ำตาลทราย มูลค่า 74,985 ล้านบาท (2) เครื่องดื่ม อาทิ น้ำแร่ น้ำอัดลม นมยูเอชที นมถั่วเหลือง มูลค่า 50,914 ล้านบาท (3) ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ อาทิ เต้าหู้ ครีมเทียม ซอสพริก น้ำปลา น้ำมันหอย มูลค่า 30,671 ล้านบาท (4) ของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้ง และนม อาทิ อาหารทางการแพทย์สำหรับเด็กเล็ก เส้นหมี่ วุ้นเส้นนู้ดเดิลพร้อมปรุง มูลค่า 26,080 ล้านบาท และ (5) เศษเหลือจากอุตสาหกรรมอาหารเพื่อเป็นอาหารสัตว์อาทิ อาหารสุนัขหรือแมว (ปลาบรรจุกระป๋อง) อาหารสัตว์ สัตว์ปีกเลี้ยง สุกร กุ้ง มูลค่า 24,040 ล้านบาท
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า สถิติการค้าสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลกยังคงเติบโตได้ดีและสินค้าเกษตรไทยก็ยังเป็นที่ต้องการและยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่อนคลายมาตรการ Zero Covid ของจีนประกอบกับรัฐบาลได้ส่งเสริมให้มีการส่งออกผ่านช่องทางรถไฟจีน-ลาว มากขึ้น ทำให้กิจกรรมการผลิต การค้าและบริการต่าง ๆ การขนส่งสินค้า และการท่องเที่ยวกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรไทยมีการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาด
นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐในด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การควบคุมคุณภาพมาตรฐาน และการขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตได้อย่างต่อเนื่องและมีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเกษตรมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการค้าให้เติบโตต่อไปในปี 2566