ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจกระทรวงอุตสาหกรรม นายสมพล โนดไธสงค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าตรวจเยี่ยม สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) โดยมีนายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พร้อมด้วยผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ สอน. ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม ชั้น 1 อาคารสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
สอน. มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการผลิตอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง การใช้และการจำหน่ายภายในประเทศและต่างประเทศ การวางแผนการปลูกและผลิตอ้อยเพื่อใช้ในการผลิตน้ำตาลทราย รวมไปถึงการวิเคราะห์ วิจัย เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพในการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย ตลอดจนเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการผลิต การใช้ และการจำหน่ายอ้อยและน้ำตาลทราย โดยมีวิสัยทัศน์ คือ อุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย อุตสาหกรรมต่อเนื่องและอุตสาหกรรมชีวภาพ สร้างรายได้ให้ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ในส่วนภูมิภาค 4 แห่ง ได้แก่ กาญจนบุรี กำแพงเพชร ชลบุรี และอุดรธานี เพื่อกระจายการให้บริการครอบคลุมพื้นที่แหล่งเพาะปลูกเป็นจำนวนมาก
โดย ปกอ. ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า “การทำงานในวันนี้ขอให้ยึดหลักว่าผู้ประกอบการกับประชาชนต้องอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขซึ่งผู้ปฏิบัติงานต้องใช้ทั้ง “หัว และ ใจ” ในการทำงาน เข้าใจ และเห็นอกเห็นใจกัน ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานที่สะท้อนแนวคิดดังกล่าวจึงควรนำไปกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ตอบโจทย์การอยู่ร่วมกันของสังคมโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการคิดหามาตรการควบคุมการเผาอ้อยอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกับผู้ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือลักลอบเผาอ้อย ทำให้ส่งผลกระทบกับประชาชนหมู่มาก ทั้งในด้านมลพิษและฝุ่นควัน ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ และธุรกิจการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังต้องทำหน้าที่ในการกำกับ ดูแลกลไกด้านราคา การประกันราคา ชดเชยราคาของอ้อยให้เหมาะสม พร้อมดูแลเรื่องพลังงานและชีวภาพ ให้มีความสมดุล และเกิดความยั่งยืน”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเก็บเกี่ยวอ้อยสามารถทำได้ 2 วิธี วิธีแรก คือ การตัดอ้อยสด และวิธีที่สอง คือ การเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว หรือที่เรียกกันว่า “อ้อยไฟไหม้” ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของปริมาณอ้อยทั้งหมด ถามว่าทำไมต้องเผาอ้อย เมื่อมาดูแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการเผาอ้อยพบว่ามีอยู่อย่างน้อย 3 ประการด้วยกัน
ประการแรก คือ อ้อยไฟไหม้ตัดง่ายกว่าและรายได้ดีกว่า การที่แรงงานเผาอ้อยก่อนตัดทำให้สามารถตัดอ้อยได้ง่าย ไม่ต้องเสียเวลาลอกกาบใบ จึงตัดได้ในปริมาณที่มากกว่าอ้อยสดประมาณ 2 เท่า ส่งผลให้โดยรวมแล้วหากแรงงานเลือกตัดอ้อยไฟไหม้จะมีรายได้สูงกว่าตัดอ้อยสดประมาณ 100 บาท/วัน ประกอบกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน ยิ่งส่งผลให้แรงงานมีอำนาจต่อรองในการตัดอ้อยไฟไหม้เพิ่มขึ้น
ประการที่สอง คือ รถตัดอ้อยมีน้อยและไม่เหมาะสมกับพื้นที่ เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการเก็บเกี่ยวโดยใช้รถตัดและแรงงาน พบว่า การเช่ารถตัดอ้อยมีต้นทุนที่สูงกว่าการจ้างแรงงานประมาณ 1,000 – 1,400 บาท/ไร่ เนื่องจากรถตัดอ้อยมีจำนวนน้อยเพราะมีราคาสูงถึง 6-12 ล้าน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมากสำหรับการลงทุนของเกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย นอกจากนี้ยังพบว่า การใช้รถตัดอ้อยอาจไม่เหมาะสมกับกรณีไร่อ้อยในไทย เนื่องจากระยะห่างในไร่ที่เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ปลูกมีความกว้างน้อยกว่าขนาดหน้ากว้างของตัวรถ
ประการสุดท้าย คือ โรงงานน้ำตาลให้คิวอ้อยไฟไหม้ก่อนอ้อยสด เนื่องจากหากโรงงานไม่รีบซื้อภายใน 48 ชั่วโมง ค่าความหวานและน้ำหนักของอ้อยไฟไหม้จะลดลงเร็วกว่าอ้อยสด โดยหากทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ อ้อยสดจะมีน้ำหนักลดลงร้อยละ 14 ในขณะที่อ้อยไฟไหม้จะมีน้ำหนักลดลงถึงร้อยละ 20[