ครม.เคาะปรับปรุงมาตรการส่งออกไม้ ห้ามส่งออกไม้พะยูง เพิ่มไม้บางชนิดต้องขออนุญาตหรือมีหนังสือรับรองก่อนส่งออก

วันที่ 18 ม.ค.66 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ว่า ครม.เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ไม้พะยูงเป็นสินค้าที่ต้องห้าม ให้ไม้ท่อน ไม้แปรรูปและไม้ล้อมบางชนิด เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต และให้สิ่งประดิษฐ์ของไม้และถ่านไม้เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงมาตรการการส่งออกไม้ท่อน ไม้แปรรูป ไม้ล้อมบางชนิด สิ่งประดิษฐ์ของไม้และถ่านไม้ออกไปนอกราชอาณาจักร เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์รวม 2 ฉบับ คือ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การส่งถ่านไม้ออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2549 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2549 และประกาศกระทรวงพาณิชย์  เรื่อง กำหนดให้ไม้เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2555 ลงวันที่ 11 เมษายน 2555 พร้อมทั้งปรับปรุงมาตรการส่งออก ดังนี้
 

1.สินค้าที่ต้องขออนุญาตในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ได้แก่ 1)ไม้ท่อน เช่น ไม้ฟืน ไม้เสาเข็ม และไม้เสารั้ว 2) ไม้แปรรูป เช่น ไม้ซีก ไม้หมอนรถไฟหรือรถราง และไม้ปาร์เกต์ 3) ไม้ล้อมบางชนิด เช่น ต้นจำปีป่า ต้นตะเคียนทอง และต้นจันทน์หอม (เพิ่มไม้ล้อมบางชนิดใหม่ จากเดิมไม่มี เพื่อให้ครอบคลุมไม้ทุกประเภท)
 

2.สินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองเพื่อการค้าหรือการส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ เพื่อแสดงต่อศุลกากรประกอบการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ได้แก่ 1) สิ่งประดิษฐ์ของไม้ เช่น ตู้ เตียง และเก้าอี้ (เพิ่มสิ่งประดิษฐ์ของไม้ จากเดิมไม่มี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศคู่ค้าว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย) 2) ถ่านไม้ (จากเดิมต้องขออนุญาต เปลี่ยนเป็นใช้หนังสือรับรอง)
 

236
ไม้พะยูง

3.กำหนดให้ไม้พะยูงท่อน ไม้พะยูงแปรรูป ไม้พะยูงล้อม และสิ่งประดิษฐ์ที่ทำจากไม้พะยูง เป็นสินค้าห้ามส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
 

4.กำหนดข้อยกเว้น กรณีการนำไม้ท่อน ไม้แปรรูป ไม้ล้อม สิ่งประดิษฐ์ของไม้ และถ่านไม้ ติดตัวออกไปเพื่อใช้เฉพาะตัว หรือนำออกไปเพื่อเป็นตัวอย่างในปริมาณเท่าที่จำเป็น ไม่ต้องขออนุญาตหรือขอหนังสือรับรองในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร และการส่งออกไม้ยางพารา (ไม่จำกัดปริมาณ) ได้รับยกเว้น ไม่ต้องขออนุญาต (จากเดิมต้องขออนุญาต และการส่งออกไม่จำกัดปริมาณ เนื่องจากไม้ยางพาราเป็นไม้ปลูก ไม่มีการลักลอบตัด)
 

5.ระบุพิกัดศุลกากรของไม้แต่ละประเภทในบัญชีท้ายร่างประกาศตามคำขอของกรมศุลกากร เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ส่งออกไม้และเจ้าหน้าที่ประจำด่านศุลกากร
 

6.กำหนด คำนิยาม เช่น ไม้ล้อม หมายความว่า ไม้ยืนต้นเฉพาะที่มีชื่อหรือชนิดตรงกับไม้หวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ที่มีชีวิตที่ถูกขุดล้อมขึ้นมาทั้งราก เพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายไปปลูกในสถานที่แห่งอื่นได้ เช่น ต้นจำปีป่า ต้นตะเคียนทอง ต้อนประดู่ และต้นจันหอม
 

ทั้งนี้ ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ จะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า   ไม้พะยูง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ผลัดใบช่วงสั้นๆ ลำต้นสูง 15-30 เมตร ทรงพุ่มรูปไข่หรือแผ่กว้าง โปร่ง เปลือกต้นสีเทาเรียบ แตกไม่เป็นระเบียบ และหลุดร่อนเป็นแผ่น เปลือกในสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อไม้มีสีแดงอมม่วงถึงแดงเลือดหมูแก่ เนื้อละเอียด แข็งแรงทนทาน 

ใบ ประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ใบย่อย 7-9 ใบ รูปไข่หรือรูปใบหอก กว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 4-7 เซนติเมตร ปลายใบแหลมเป็นติ่งหู โคนใบมนกว้าง ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว คล้ายแผ่นหนัง แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม แผ่นใบด้านล่างสีเขียวนวล แกนกลางใบประกอบยาว 10-15 เซนติเมตร เส้นแขนงใบข้างละ 5-7 เส้น ก้านใบย่อยยาว 3-6 เซนติเมตร

ดอกช่อแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายยอดหรือซอกใบใกล้ปลายยอด ช่อดอกตั้งขึ้น ยาว 10-20 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ขอบหยักซี่ฟันตื้นๆ 5 จัก มีขนสั้น กลีบดอกรูปดอกถั่ว สีขาวนวล มีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบดอกยาว 0.8-1 เซนติเมตร ดอกบานเต็มที่กว้าง 5-8 มิลลิเมตร กลีบดอก 5 กลีบ เกสรเพศผู้ 10 อัน เชื่อมติดกันเป็น 2 มัด ดอกร่วงพร้อมกัน ภายใน 2-3 วัน 

ผลเป็นฝักแห้งไม่แตกออก ฝักจะร่วงหล่นโดยที่เมล็ดยังอยู่ในฝัก ฝักรูปขอบขนาน แบนบาง เกลี้ยง กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 4-5 เซนติเมตร ตรงกลางมีกระเปาะหุ้มเมล็ด 

เมล็ดรูปไต สีน้ำตาลเข้ม 1-4 เมล็ด ต่อฝัก ผิวเมล็ดค่อนข้างมัน กว้างประมาณ 4 มม. ยาว 7 มม. ออกดอกราวเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ติดผลราวเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน พบตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบแล้ง ที่ความสูง 100-200 เมตร จากระดับน้ำทะเล

เนื้อไม้มีสีสันและลวดลายสวยงามจนถือได้ว่าเป็นไม้ที่มีราคาแพงที่สุดชนิดหนึ่งในตลาดโลก ทำให้เกษตรกรบางคนถึงขนาดนอนเฝ้าต้นไม้พยูงเพราะกลัวจะถูกลักลอบตัดไปขาย เนื้อไม้พะยูงมีความละเอียดเหนียว แข็งทนทานและชักเงาได้ดี มีน้ำมันในตัวจึงมักใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ต่าง ๆ มีชื่อเป็นมงคล เชื่อว่าปลูกไว้จะช่วยพยุงให้โชคดีมีชัย