“ข้าวโพด-กากถั่ว” แพงจัด ดันต้นทุนไข่ไก่พุ่ง เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่วอนรัฐเร่งแก้

วันที่ 17 ม.ค.66 นางพเยาว์ อริกุล นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง เปิดเผยว่า ปัจจุบันไข่ไก่มีต้นทุนการผลิตสูงถึง 3.45-3.50 บาท/ฟอง สูงกว่าช่วงปกติถึง 30%  เกิดจากราคาธัญพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่งสูงขึ้นอย่างมากและยืนแข็งในเกณฑ์สูงมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลือง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของอาหารเลี้ยงไก่ไข่   เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่แทบจะไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนสูงต่อไปได้อีก เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งประกอบด้วย สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด  สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด และ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่น้ำน้อย จำกัด จึงประกาศขยับราคาขายขึ้นเป็น 3.60 บาท/ฟองเมื่อสองสัปดาห์ก่อน และคาดว่าอาจต้องขยับอีกหากต้นทุนยังพุ่งไม่หยุด วอนภาครัฐเร่งแก้ปัญหาวัตถุดิบ และขอพี่น้องประชาชนโปรดเข้าใจสถานการณ์ เพราะไม่มีใครอยู่รอดได้หากต้องขายของในราคาขาดทุน

egg 318227 960 720 1
ต้นทุนไข่ไก่พุ่ง

“รัฐปล่อยให้ราคาวัตถุดิบสูงอยู่เช่นนี้มานาน ควรเร่งหาทางแก้ไขและเปิดทางราคาขายผลผลิตให้สอดคล้องกับต้นทุน เพื่อให้เกษตรกรพอมีกำไรและทำธุรกิจฟาร์มต่อไปได้ อย่าลืมว่ายังมีต้นทุนอื่นๆอีกที่ล้วนขยับสูงขึ้นทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นค่าพลังงาน น้ำมัน แก๊ส หรือแม้แต่ค่าไฟฟ้า รวมถึงค่าแรงงานต่างๆภายในฟาร์ม ทำให้ส่วนต่างจากการขายไข่ทุกวันนี้ แทบไม่พอจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารแล้ว” นางพเยาว์กล่าว  

ทั้งนี้  พืชวัตถุดิบเป็นต้นทุนถึง 90% ของการผลิตอาหารสัตว์ และอาหารสัตว์ก็เป็นต้นทุนการผลิตไข่ไก่ถึง 60-70 %  แม้ตนจะรับทราบมาตลอดว่าราคาธัญพืชสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาภัยแล้งหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ รวมถึงการที่จีนกว้านซื้อธัญพืชวัตถุดิบจากทั่วโลก ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยระดับโลกที่แก้ได้ยาก แต่ยังมีปัจจัยภายในประเทศที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนให้เกษตรผู้เลี้ยงสัตว์และบรรเทาภาวะค่าครองชีพให้ผู้บริโภคได้ นั่นก็คือ “นโยบายรัฐ” ในด้านการจัดการวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาทิ การกำหนดเพดานราคาข้าวโพดไม่ให้เกินกว่าข้าวโพดนำเข้า หรือ การลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองให้เป็นศูนย์  การยกเลิกมาตรการ 3:1 ฯลฯ  ซึ่งน่าจะช่วยลดภาระให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ให้พออยู่ได้ท่ามกลางราคาต้นทุนการผลิตที่ถีบตัวสูงขึ้นทุกด้าน รวมถึงดอกเบี้ยขาขึ้นที่สถาบันการเงินต่างทยอยประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยออกมา 

%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C
วัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่งสูงขึ้น

“ปัจจุบัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีราคาสูงถึง 13.40 บาท/กก. และกากถั่วเหลืองมีราคาถึง 23.70 บาท/กก. โดยมีการคาดการณ์กันว่า ราคาวัตถุดิบในปี 2566 นี้มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก 10%  เป็นภาระต้นทุนที่รออยู่ของเกษตรกรคนเลี้ยงสัตว์ทุกคนที่ภาครัฐจำเป็นต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน” นางพเยาว์ กล่าวทิ้งท้าย  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาไข่ไก่ถูก-แพง ถือเป็นปัญหาที่วนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกปี ราคาไข่ไก่มีขึ้นมีลงอยู่ตลอด ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดและปริมาณผลผลิตในขณะนั้นเป็นตัวกำหนด หรือที่เรียกว่ากลไกตลาด กล่าวคือ เมื่อไข่ไก่น้อยคนกินมากราคาก็ต้องปรับขึ้น ในทางกลับกันเมื่อไข่ไก่มากสวนทางกับการกินที่น้อย ราคาย่อมปรับตัวลดลง

ใน 1 ปี หากแบ่งเป็นช่วง ๆ จะพบว่าราคาไข่เป็นดังนี้

มกราคม-กุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่การบริโภคไข่ไก่คึกคัก เนื่องจากมีวันหยุดเทศกาลสำคัญอยู่หลายวัน ทำให้ภาวะราคาในช่วงสองเดือนนี้ค่อนข้างสูง

มีนาคม เป็นช่วงปิดภาคเรียนของโรงเรียนต่าง ๆ ทำให้อัตราการบริโภคลดลงอย่างมาก

เมษายน ราคาขยับสูงขึ้นเล็กน้อยเพราะอากาศร้อนจัดกระทบการให้ผลผลิตไข่ไก่ทำให้ปริมาณไข่ลดลง

พฤษภาคม-สิงหาคม เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งมีอาหารตามธรรมชาติออกสู่ตลาดมาก ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกอาหารอื่นทดแทนไข่ไก่ กอปรกับไก่เนื้อมีภาวะราคาลดลงจึงเป็นทางเลือกของผู้บริโภค ราคาไข่ไก่จึงลดลง

กันยายน การบริโภคค่อนข้างทรงตัว ปริมาณผลผลิตมีต่อเนื่อง ทำให้ราคาลดต่ำลง

ตุลาคม มีเทศกาลกินเจและโรงเรียนปิดกลางภาคการศึกษา ทำให้การบริโภคค่อนข้างต่ำ ราคาไข่ไก่จึงลดลง

พฤศจิกายน-ธันวาคม ช่วงปลายปีที่อากาศหนาวเย็นลงทำให้การท่องเที่ยวค่อนข้างคึกคักและยังมีช่วงวันหยุดอยู่หลายวัน การบริโภคคึกคัก ทำให้ราคาไข่ไก่ค่อนข้างสูง