ครม.ไฟเขียวมติคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ(กนป.) ประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์ม ปี 65-66

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (17 ม.ค. 66)คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (ประธาน กนป.) เสนอ ดังนี้

1.เห็นชอบให้เปิดตลาดน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มและบริหารการนำเข้าคราวละ 3 ปี (ปี 2566 – 2568) โดยให้เป็นไปตามข้อผูกพันของทุกกรอบการค้า และมีการบริหารการนำเข้าเช่นเดียวกับความตกลงการเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) คือ ให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้นำเข้าและกระจายให้ผู้ผลิตภายในประเทศตามที่สมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์มเป็นผู้จัดสรร ยกเว้นความตกลงการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลีย (Thailand – Australia Free Trade Agreement : TAFTA) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย – นิวซีแลนด์ (Thailand – New Zealand Closer Economic Partnership : TNZCEP) (ตามข้อ 2)

2. รับทราบสรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 และรับความเห็นของประธาน กนป. และผู้แทนสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเรื่อง การขอขยายระยะเวลาโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์ม เพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2565 และโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2566

สาระสำคัญของเรื่อง

รองนายกรัฐมนตรีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธาน กนป. รายงานว่า

1. ที่ประชุม กนป. ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบให้มีการดำเนินการ 6 เรื่อง ดังนี้

1. การกำหนดมาตรฐานการรับซื้อผลปาล์ม

เห็นชอบในหลักการของการกำหนดมาตรการซื้อขายปาล์มคุณภาพ ที่สามารถปฏิบัติได้จริงและไม่เป็นภาระต่อผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมมากเกินสมควร โดยมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการซื้อขายปาล์มคุณภาพ และนำเสนอ กนป. ให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการต่อไป ดังนี้

1.1 ห้ามรับซื้อผลปาล์มทะลายดิบ (เนื่องจากไม่มีคุณภาพ)

1.2 กำหนดให้รางเททะลายปาล์มน้ำมันต้องเป็นรางทึบไม่มีการติดตั้งตะแกรง อุปกรณ์สำหรับแยกผลปาล์มร่วง หรือดำเนินการใด ๆ เพื่อแยกผลปาล์มร่วง หรือทำให้ผลปาล์มร่วงอย่างไม่เป็นธรรมชาติ

1.3 ห้ามรดน้ำทะลายปาล์มเพื่อเพิ่มน้ำหนักทะลายปาล์ม

1.4 กำหนดให้มีเครื่องชั่งที่ได้มาตรฐาน

ทั้งนี้ เห็นควรมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติร่วมกันกำหนดเกณฑ์การพิจารณามาตรฐานผลปาล์มสุก/ผลปาล์มดิบทางกายภาพในการรับซื้อทะลายปาล์มสุกตามชั้นคุณภาพ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาบังคับใช้ในทางกฎหมายได้ต่อไป

2. โครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์มเพื่อบริหารจัดการและควบคุมสต็อกน้ำมันปาล์ม

มอบหมายกระทรวงพาณิชย์เร่งรัดการตรวจรับการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์ม โครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์มเพื่อบริหารจัดการและควบคุมสต็อกน้ำมันปาล์มให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการติดตาม ตรวจสอบ และกำกับดูแลความเคลื่อนไหวของปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบที่ถูกต้อง เที่ยงตรง เป็นปัจจุบันและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

3. การเปิดตลาดน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มภายใต้กรอบการค้าระหว่างประเทศ ปี 2566 – 2568

3.1 เห็นชอบให้เปิดตลาดน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มและบริหารการนำเข้าคราวละ 3 ปี (ปี 2566 – 2568) โดยให้เป็นไปตามข้อผูกพันของทุกกรอบการค้า และมีการบริหารการนำเข้าเช่นเดียวกับความตกลงการเกษตรภายใต้ WTO คือ ให้ อคส. เป็นผู้นำเข้าและกระจายให้ผู้ผลิตภายในประเทศตามที่สมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์มเป็นผู้จัดสรร ยกเว้นความตกลง TAFTA และความตกลง TNZCEP

3.2 มอบหมายฝ่ายเลขานุการ กนป. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ และมอบ พณ. และกระทรวงการคลัง (กค.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

4. การขอขยายระยะเวลาโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2565

 4.1 เห็นชอบการขยายระยะเวลาดำเนินการตามโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2565 เป้าหมาย 150,000 ตัน โดยขยายระยะเวลาส่งออก จากเดิม สิ้นสุดเดือนกันยายน 2565 เป็น สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2565 และระยะเวลาโครงการ จากเดิม สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2565 เป็นสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2566 หรือจนกว่าคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการดำเนินโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2566 ทั้งนี้                         

ในการดำเนินการโครงการฯ จะพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสำหรับการส่งออกเฉพาะน้ำมันปาล์มดิบ ในอัตราไม่เกิน 2 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 300,000 ตัน และราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565
    

4.2 สำหรับกรอบวงเงินงบประมาณ ให้ สงป. พิจารณาจัดสรรกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการในช่วงระยะเวลาดังกล่าว วงเงินรวมทั้งสิ้น 309 ล้านบาท

%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B9%8C%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99 11 2
ประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2565 – 2566

5. โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2565 – 2566 และมาตรการคู่ขนาน ปี 2566

 5.1 เห็นชอบการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2565 – 2566 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอ ระยะเวลาการจ่ายเงินเดือนกันยายน 2565 – สิงหาคม 2566 กรอบวงเงินดำเนินการ 6,128.18 ล้านบาท โดยคงหลักการเช่นเดียวกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2564 – 2565 ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องจากโครงการฯ ปี 2564 – 2565 กำหนดให้เริ่มจ่ายเงินชดเชยประกันรายได้ งวดที่ 1 ให้แก่เกษตรกรตั้งแต่เดือนกันยายน 2565
    

5.2 เห็นชอบการดำเนินโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2566 ตามที่ พณ. เสนอ เป้าหมาย 150,000 ตัน ระยะเวลาส่งออกตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม 2566 ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 – มีนาคม 2567 กรอบวงเงินดำเนินการ 309 ล้านบาท  จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อลดปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินและรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศ โดยในการดำเนินการโครงการฯ จะพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสำหรับการส่งออกเฉพาะน้ำมันปาล์มดิบในอัตราไม่เกิน 2 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 250,000 ตัน และราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารสมดุลน้ำมันปาล์มภายในประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การกำหนดเงื่อนไขในการพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายฯ ในส่วนของระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยให้เป็นอำนาจของ กนป. เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบ
    

5.3 มอบหมายกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2565 – 2566 และโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2566 รวมทั้งอนุมัติกรอบวงเงินดำเนินการ
    

5.4 เห็นชอบมอบหมายกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กระทรวงมหาดไทย กค. และ สงป. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
   

5.5 เห็นชอบมอบหมายฝ่ายเลขานุการ กนป. พิจารณาเสนอร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันปี 2565 – 2566 เพื่อนำเรียนประธาน กนป. ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งต่อไป

6. การสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.)

6.1 เห็นชอบการยกเว้นการใช้หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ พ.ศ. 2563 ข้อ 4       (4) ให้คณะอนุกรรมการสรรหาฯ ดำเนินการคัดเลือกผู้ที่ได้รับการสรรหาให้เหลือจำนวน 2 เท่า ของจำนวนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ที่กำหนด (20 คน)
    

6.2 เห็นชอบผลการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่พึงประสงค์ให้มีในกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ จำนวน 10 ราย ดังนี้
        

6.2.1 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ตามความรู้ความเชี่ยวชาญของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 7 ด้าน (1) ด้านการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (นายธนิตย์ ธรรมจรัส) (2) ด้านการตลาดผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (นายศุภชัย จินตนาเลิศ) (3) ด้านนวัตกรรมการเพิ่มอุปสงค์น้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ (นายพิพัฒน์ วีระถาวร) (4) ด้านระบบขนส่งและการกระจายสินค้า (นายต่อพงษ์ ตริยานนท์) (5) ด้านพลังงานทางเลือกใหม่ (นายพงษ์ชัย ชัยจิรวัฒน์) (6) ด้านการส่งเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันและการลงทุน (ผศ.ดร.ธีรศักดิ์ ปั้นวิชัย) และ (7) ด้านสิ่งแวดล้อม (ดร.วิจารย์ สิมาฉายา)
        

6.2.2 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ในส่วนของผู้ประกอบการสวนปาล์มน้ำมัน (เกษตรกร) จำนวน 3 คน ได้แก่ (1) นายวิรัตน์ ธรรมบำรุง (2) นายสุทธิพันธ์ นุรักษ์ และ (3) นายวิโรช เพ็ชรร่วง
    

6.3 เห็นชอบให้ฝ่ายเลขานุการ กนป. นำรายชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมในลำดับถัดไปสำรองไว้เพื่อเสนอเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต่อไป ในกรณีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ โดยให้อยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้
    

6.4 มอบหมายฝ่ายเลขานุการดำเนินการเพื่อการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ต่อไป

2. กนป.ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบให้เปิดตลาดน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มและบริหารการนำเข้าคราวละ 3 ปี (ปี 2566 – 2568) โดยให้เป็นไปตามข้อผูกพันของทุกกรอบการค้า และมีการบริหารการนำเข้าเช่นเดียวกับความตกลงการเกษตรภายใต้ WTO คือ ให้ อคส. เป็นผู้นำเข้าและกระจายให้ผู้ผลิตภายในประเทศตามที่สมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์มเป็นผู้จัดสรร ยกเว้นความตกลง TAFTA และความตกลง TNZCEP

ทั้งนี้ ทุกความตกลงสามารถนำเข้าด่านที่กำหนดตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้น้ำมันปาล์ม เปิดตลาดน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม และบริหารการนำเข้า คราวละ 3 ปี เป็นการดำเนินการตามพันธกรณี และไม่ขัดกับข้อผูกพันตามความตกลงการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นไปตามแนวทางเดิมเช่นเดียวกับการเปิดตลาดน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มและบริหารการนำเข้า ปี 2563 – 2565

ทั้งนี้ ฝ่ายเลขา กนป. แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่า การบริหารโควตาการนำเข้าและอัตราภาษีสำหรับปี 2566 – 2568 ยังคงดำเนินการเช่นเดียวกับการบริหารโควตาการนำเข้าและอัตราภาษีในปี 2562 – 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าระหว่างประเทศที่ไทยมีข้อผูกพันทุกฉบับ ทั้งนี้ ในส่วนของความตกลง TAFTA และความตกลง TNZCEP ที่เปิดเสรีโดยมิได้มีการกำหนดโควตาและไม่ต้องขออนุญาตนำเข้านั้น ยังไม่เคยมีการนำเข้าแต่อย่างใดเนื่องจากทั้งสองประเทศไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์ม