น้อยหน่าเครือ พืชป่าที่มีผลคล้ายน้อยหน่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Kadsura spp. เป็นไม้เถาเลื้อย จัดอยู่ในตระกูล Schisandraceae ทั่วโลกพบ 16 สายพันธุ์ เป็นพืชหายาก ที่ได้รับการขึ้นบัญชีให้เป็นพืชอนุรักษ์ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)
สำหรับในประเทศไทยจากการตีพิมพ์ของ Flora of Thailand (1999) และ Sritalahareuthai et al. (2020) พบเพียง 2 สายพันธุ์ คือ Kadsura ananosma Kerr ชื่อพ้อง Kadsura coccinea (Lem.) Smith. และ Kadsura heteroclita (Roxb.) Craib โดยส่วนใหญ่มักพบในพื้นที่สูงทางภาคเหนือ ที่มีอากาศหนาวเย็น บริเวณป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ใกล้แหล่งน้ำ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,000 – 1,200 เมตร
น้อยหน่าเครือ มีลักษณะทั่วไปอย่างไร สังเกตดูว่า ….
เถา มีสีน้ำตาลเข้ม เลื้อยพันกับต้นไม้ใหญ่ ถากดูเนื้อไม้ข้างในมีสีชมพูอมแดง
ใบ เป็นใบเดี่ยว รูปรีหรือค่อนข้างรูปไข่ เนื้อใบหนาคล้ายหนังหรือบางคล้ายกระดาษ โคนใบรูปลิ่มหรือรูปลิ่มกว้าง ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ปลายใบเรียวแหลม หรือแหลมสั้น ๆ
ดอก เป็นดอกแยกเพศ บนต้นเดียวกัน ออกที่ซอกใบ มีก้านดอก กลีบดอกสีขาว แต้มสีชมพูที่ปลายกลีบ
ผล คล้ายน้อยหนา มีสีผลหลากหลาย เช่น สีแดง สีเขียว และสีเขียวครีม ผลมีคาร์เพลแยกใน 1 คาร์เพล มีเมล็ด 1 – 2 เมล็ด รูปร่างเมล็ดค่อนข้างกลม
จากการสำรวจโดยทีมนักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส.ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ บ้านห้วยน้ำกืน ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง อ. เวียงป่าเป้า จ. เชียงราย และ บ้านแม่สายป่าเมี่ยง โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโหล่งขอด อ. พร้าว จ.เชียงใหม่ ในปี 2562 สามารถจำแนกตามลักษณะที่พบออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ผลสุกสีแดง ผลย่อยสีแดง ออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายน ให้ผลผลิตเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์
กลุ่มที่ 2 ผลสุกสีเขียวครีม ผลย่อยสีแดงและขาว ออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคม ให้ผลผลิตเดือนกันยายน – ตุลาคม
กลุ่มที่ 3 ผลสุกสีเขียวครีม ผลย่อยสีชมพูและขาว ออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคม ให้ผลผลิตเดือนกันยายน – ตุลาคม
กลุ่มที่ 4 ผลสุกสีเขียว ผลย่อยสีขาว ออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคม ให้ผลผลิตเดือนกันยายน – ตุลาคม
นอกจากจะสวยแปลกแล้ว ยังมีคุณประโยชน์มากมายอีกด้วย
ผลสุก นิยมนำมารับประทานสด มีรสชาติเปรี้ยว อมหวาน สามารถนำมาแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ แยม และไวน์ได้ ผลน้อยหน่าเครือ อุดมไปด้วยแร่ธาตุและสารอาหารต่าง ๆ เช่น วิตามินซี คาร์โบไฮเดรต เส้นใยอาหาร และ แคลเซียม เป็นต้น ภายในผลน้อยหน่าเครือยังมีสารต้านอนุมูลอิสระโพลีฟีนอล และแอนโทไซยานินมีส่วนช่วยควบคุมการทำงานต่าง ๆ ในร่างกายให้เป็นปกติ เช่น สุขภาพสมอง รักษาสมดุลในร่างกาย ช่วยชะลอความเสื่อมของระบบประสาท หลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ และหลอดเลือด
เถา ภูมิปัญญาชนเผ่าม้ง บนดอยปุย จ. เชียงใหม่ นำมาต้มหรือแช่น้ำอาบช่วยรักษาโรคอัมพฤกษ์อัมพาต ส่วนประเทศจีนนำ เถาและราก มาใช้เป็นสมุนไพร รักษาโรคทางเดินอาหารและไขข้ออักเสบ นอกจากนี้ยังมีรายงานวิจัยว่าสารสกัดจากเมล็ดน้อยหน่าเครือ มีประสิทธิภาพในการต้านเนื้องอก ต้านเชื้อ HIV และ ไวรัสตับอักเสบ (Liu, & Li, 1995 ; Gao et al., 2008)
ปัจจุบัน สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้ศึกษาวิธีการเพาะขยายพันธุ์ การปลูก และการจัดการน้อยหน่าเครือภายใต้ระบบวนเกษตร เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง อ. เวียงป่าเป้า จ. เชียงราย, โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวาวี (แม่พริก) อ. แม่สรวย จ. เชียงราย และ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโหล่งขอด อ. พร้าว จ. เชียงใหม่ ร่วมถึงดำเนินการปลูกฟื้นฟู ทั้งในพื้นที่ป่า และพื้นที่ทำการเกษตร เพื่อการอนุรักษ์พันธุ์กรรม และเพิ่มพูนความหลากหลายทางชีวภาพ ไปแล้วกว่า 10 ชุมชน
ทีนี้มาดูวิธีการเพาะขยายพันธุ์เจ้าน้อยหน่าเครือ สามารถทำได้ 2 วิธี ง่าย ๆ ได้แก่
1. เพาะเมล็ด นำเมล็ดน้อยหน่าเครือที่แก่สมบูรณ์ ไปแช่ตู้เย็นไว้ประมาณ 1 อาทิตย์ จากนั้นนำมาเพาะโดยใช้ขุยมะพร้าวเป็นวัสดุเพาะ รดน้ำให้ชุ่ม จากนั้นคลุมพลาสติกไว้ ประมาณ 2 เดือน ต้นกล้าจะเริ่มงอกขึ้นมา
2.ตอนกิ่ง คัดเลือกเถาน้อยหน่าเครือที่กึ่งอ่อนกึ่งแก่ (เถาจะมีสีน้ำตาลปนเขียว) จากนั้นทำการตอนเหมือนไม้อื่น ๆ ตามปกติ ทิ้งไว้ประมาณ 5 – 6 เดือน จะเริ่มเห็นรากแตกออกมา
สำหรับผู้ที่สนใจ อยากจะลองชิมรสชาติน้อยหน่าเครือ สามารถแวะซื้อได้ บริเวณเส้นทางเชียงใหม่ – เชียงราย ในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม (ผลสีเขียวครีม) และ เดือน มกราคม -กุมภาพันธ์ (ผลสีแดง) ชาวบ้านจะนำออกมาขาย ราคาลูกละ ประมาณ 50 – 80 บาท