หลังจากเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.65 ที่ผ่านมา นายสาคร เกี่ยวข้อง รองประธานคณะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ คนที่หนึ่ง น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล รองประธานคณะ กมธ. คนที่เจ็ด และคณะ มีความเห็นชอบการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน พ.ศ. …. โดยร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อการส่งเสริมกำกับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีโครงสร้างราคาที่เป็นธรรมแข่งขันได้
นายสาคร เกี่ยวข้อง และนางสาวพิมพ์รพี พันธ์ุวิชาติกุล ได้หารือในที่ประชุมสภาผูัแทนราษฎร เรื่อง พระราชบัญญัติปาล์มและน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เพื่อความยั่งยืนพ.ศ…. ระบุว่า เมื่อปลายปีนี้ราคาน้ำมันปาล์มมีราคาต่ำสุดลดลงถึง 1 บาท ซึ่งสะท้อนกลไกราคาที่ไม่เป็นธรรม ตน และพรรคประชาธิปัตย์ จึงได้เสนอ ร่างพ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเพื่อความยั่งยืน เพื่อให้สภาได้พิจารณา หากสามารถบังคับใช้ได้จะเป็นประโยชน์และทำให้ราคาปาล์มยั่งยืนให้กับประชาชนต่อไป และทวงถามย้ำให้นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในร่างพระราชบัญญัติปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม ที่นำส่งประธานรัฐสภาได้แล้ว ส่งคืนมาสภาเพื่อได้นำร่างพระราชบัญญัตินี้เข้าสู่การพิจารณาในสภาเพื่อให้สามารถประกาศใช้ได้ทันในสมัยประชุมนี้ โดยเร่งด่วน
นายสาคร เกี่ยวข้อง กล่าวว่า แม้กระทรวงพาณิชย์จะเร่งเข้าไปดูแล แต่ก็เป็นแค่การเข้าไปหลังปัญหาเกิดแล้ว ขณะที่ลานเทในภาคใต้หลายแห่งยังปิดทำการ เพราะโรงงานสกัดฯไม่รับ จนเกษตรกรเดือดร้อนถ้วนหน้า
“สิ่งที่ผมอยากให้ทำควบคู่กันไปกับการช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ การแก้ปัญหาที่ระบบและโครงสร้างให้เกิดความเป็นธรรมซึ่งสภาฯพยายามอย่างเต็มที่ในการทำคลอด ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน พ.ศ. …. เพื่อการส่งเสริมกำกับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีโครงสร้างราคาที่เป็นธรรมแข่งขันได้ แต่ตอนนี้ยังมีความล่าช้า จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีเร่งลงนาม เพื่อให้ร่างกฎหมายนี้ออกมามีผลบังคับใช้โดยเร็ว” นายสาครกล่าว
ด้าน ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล รองประธานคณะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ คนที่ 7 กล่าวว่า ปลายปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันปาล์มลดลงถึง 1 บาท ขณะที่ต้นทุนพุ่งโดยเฉพาะค่าปุ๋ย โดยราคา ณ วันนี้อยู่ที่ 4 บาทเศษ ถ้ายังไม่รับบริหารจัดการให้ดี ราคาอาจร่วงลงอีก สุดท้ายรัฐก็ต้องจัดงบประมาณสนับสนุน ตามที่มีการประกันรายได้ไว้ที่กิโลกรัมละ 4 บาท แต่ในความเป็นจริง ต้นทุนที่พุ่งไม่หยุด ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนต่อกิโลกรัมที่ 6 บาทแล้ว การแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือการปฏิรูประบบ โครงสร้างราคาใหม่ ให้เกิดความเป็นธรรมกับเกษตรกร
“ดิฉันหวังว่า นายกฯ จะเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ รีบลงนามใน ร่างพ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเพื่อความยั่งยืน เพื่อให้สภาได้พิจารณา ให้ทันสมัยประชุมนี้ เพราะยิ่งบังคับใช้ได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะเป็นประโยชน์และทำให้ราคาปาล์มยั่งยืนให้กับประชาชนได้เร็วขึ้นมากเท่านั้น เราเหลือเวลาทำงานเป็นตัวแทนประชาชนในสภาฯกันไม่มากแล้ว ใช้เวลาทุกนาทีให้คุ้มค่า สมกับที่ประชาชนเลือกเรามา” ดร.พิมพ์รพี กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาปาล์มน้ำมันปาล์มในตลาดโลกปี 66 มีแนวโน้มปรับตัวลดลงเนื่องจากปริมาณผลผลิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาของไทยปรับลดตามไปด้วยแถมการส่งออกมีแนวโน้มลดลงทำให้สต็อกน้ำมันปาล์มในประเทศเพิ่มสูงคาดปี 66 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 6.12 บาท ลดลงจากปี 65 ซึ่งอยู่ที่ 7.70 บาทต่อกิโลกรัม
ปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มของตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงในปี 2566 เนื่องจากในปี 2564/65 มีผลผลิตน้ำมันปาล์ม 75.93 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 73.08 ล้านต้น ในปี 2563/2564 ร้อยละ 3.90 แหล่งผลิตปาล์มน้ำมันที่สำคัญของโลกได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย มีสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยฝนตกอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของมาเลเซียเริ่มคลี่คลาย