นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมุ่งมั่นขับเคลื่อนงานตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในประเด็นการสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และการวิจัยและพัฒนา
โดยการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาอาชีพการเกษตร ภายใต้กรอบแนวคิดการนำ BCG Economy Model มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการเกษตรของประเทศ ให้มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน สู่ความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องเกษตรกร
ซึ่งตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา กรมส่งเสริมการเกษตรได้ลงนาม MOU กับหน่วยงานต่างๆเพื่อช่วยปรับเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรของเกษตรกร ให้นำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งในด้านการเพิ่มปริมาณผลผลิต การเพิ่มคุณภาพผลผลิต และการลดต้นทุนการผลิตเช่น สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กรมวิชาการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร บริษัท อายิโนะโมโต๊ะ (ประเทศไทย) จํากัด บริษัท เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จํากัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
สำหรับความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา แบ่งออกเป็น 2 ด้าน ประกอบด้วย
1) ด้านการพัฒนาบุคลากรและเกษตรกร ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย
(1) จัดอบรมเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 1,630 คน
(2) การออกแบบหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอกที่เอื้อต่อการพัฒนาบุคลากร ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีผู้สนใจสมัครเข้ารับการศึกษาแล้ว รวม 19 คน ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญญาโท จำนวน 16 คนและหลักสูตรปริญญาเอก จำนวน 3 คน ดำเนินการ
(3) พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรในการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ จำนวน 261 คน ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
และ (4) คัดเลือกเกษตรกรเข้ารับการศึกษาต่อโครงการทุนปริญญาตรีเพื่อเกษตรกรรุ่นใหม่ และทุนปริญญาตรีเฉลิมพระเกียรติ สืบสาน ร.9 เพื่อเกษตรกรรุ่นใหม่ จำนวน 177 รายร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)
2) ด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยดำเนินการร่วมกับ
(1) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ขยายผลงานวิจัยพร้อมใช้สู่เกษตรกร จำนวน3,290 ราย ร่วมกับ
(2) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในการขยายผลเทคโนโลยี HandySense ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร
(3) ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลสำหรับเกษตรกร ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA)
และ(4)ร่วมกับบริษัท อายิโนะโมโต๊ะ (ประเทศไทย) จํากัด บริษัท เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จํากัด ดำเนินการผลิตพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์สะอาด รวมทั้งการนำเทคโนโลยีโดรนไปใช้ในการสำรวจแปลงปลูก
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรอยู่ระหว่างดำเนินงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการเสริมศักยภาพวิสาหกิจชุมชนมะพร้าวอ่อนน้ำหอมดอนมโนราและวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมบางตลาดด้วยแพลตฟอร์ม GROW Model เพื่อเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดที่เป็นธรรมอย่างยั่งยืน และโครงการวิจัยระบบอัจฉริยะ เพื่อการวินิจฉัยเฝ้าระวังและเตือนภัยโรคมันสำปะหลัง หรือ MunBot
นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาการจัดการศัตรูพืชอย่างเป็นระบบด้วยนวัตกรรม เพื่อเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และโครงการพัฒนาวิธีการใช้แมลงที่เป็นหมันผสมผสานกับวิธีการกับดักทำลายเพศผู้ ที่ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) อีกด้วp