กรมชลประทาน เดินหน้าปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง 1 ใน 9 แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง หวังเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำช่วงฤดูน้ำหลาก หลังคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการฯ แล้ว ก่อนเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จำนวน 9 แผน โดยหนึ่งในแผนงานที่มีความสำคัญเร่งด่วน คือ โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว ก่อนเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการต่อไป
สำหรับโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง เป็นการปรับปรุงขุดขยายคลองชลประทานเดิม จำนวน 26 คลอง ความยาวรวม 490 กิโลเมตร รวมทั้งก่อสร้างและปรับปรุงอาคารบังคับน้ำเพิ่มเติม บริเวณคลองต่างๆ ให้สามารถระบายน้ำได้มากขึ้น ดังนี้
- คลองระพีพัฒน์ ตั้งแต่ประตูระบายน้ำพระนารายณ์ ถึง ประตูระบายน้ำพระศรีเสาวภาค ความยาว 32.28 กิโลเมตร
- คลองระพีพัฒน์แยกตก ตั้งแต่ประตูระบายน้ำพระศรีศิลป์ ถึง ประตูระบายน้ำพระอินทร์ราชา ความยาว 36.65 กิโลเมตร
- คลองระพีพัฒน์แยกใต้ ตั้งแต่ประตูระบายน้ำพระศรีเสาวภาค ถึง ประตูระบายน้ำพระธรรมราชา ความยาว 28.49 กิโลเมตร
- คลองรังสิตประยูรศักดิ์ ตั้งแต่สถานีสูบน้ำจุฬาลงกรณ์ ถึง สถานีสูบน้ำเสาวภาผ่องศรี ความยาว 40.55 กิโลเมตร
- คลองรังสิตประยูรศักดิ์ – คลองหกวาสายล่าง ประกอบด้วย ปรับปรุงคลอง 13, 14, 15 และ 16 ความยาวรวม 40.72 กิโลเมตร
- คลองหกวาสายล่าง – คลองบางขนาก ประกอบด้วย ปรับปรุงคลองหกวาสายล่าง คลอง 13, 14, 15, 16 และ 17 ความยาวรวม 79.25 กิโลเมตร
- คลองพระองค์ไชยานุชิต – คลองนครเนื่องเขต – คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองสาขา ความยาวรวม 132.60 กิโลเมตร
- คลองด่าน – คลองสำโรง และคลองสาขา ความยาวรวม 41.89 กิโลเมตร
ทั้งหมดมีแผนในการดำเนินงาน 6 ปี (พ.ศ. 2567 – 2572) หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มอัตราการระบายน้ำจากเดิม 210 ลบ.ม./วินาที เป็น 400 ลบ.ม./วินาที และยังเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในคลองช่วงฤดูแล้งเพิ่มขึ้นอีก 18 ล้าน ลบ.ม./ปี และที่สำคัญสามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยหรือลดมูลค่าความเสียหายจากอุทกภัยได้เฉลี่ยปีละ 5,085 ล้านบาท
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจพื้นที่เสร็จแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2566 จากนั้นจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอใช้พื้นที่ในการดำเนินโครงการฯต่อไป