ชลธี นุ่มหนู ผู้ประสานงานเครือข่ายพิทักษ์ทุเรียนไทย และอดีตหัวหน้าทีมเล็บเหยี่ยวฯ สวพ.6 เปิดเผยว่า ได้รวมกลุ่มเกษตรกรชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก เพื่อชี้แจงการทำทุเรียนคุณภาพว่าต้องดำเนินการอย่างไร ควรตัดเมื่อไหร่ และทำอย่างไรให้ราคาขายทุเรียน (ผลสด) ราคาไม่ลง ซึ่งเป็นเทคนิคเสริมที่มีการพูดคุยกับชาวสวน
และอีกหนึ่งเรื่องที่มีการพูดคุยกัน คือ การตัดทุเรียนคุณภาพ เพื่อจำหน่าย ซึ่งได้ร่วมกับผู้ประกอบการส่งออก (ล้ง) ที่ส่งออกในแบรนด์ตัวเอง กว่า 10 ล้ง จะจำหน่ายทุเรียนคุณภาพ คือ เดิม จะมีการตัดทุเรียนที่เปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้ง 32% แต่ชาวสวนและล้งส่งออกกลุ่มนี้ จะตัดทุเรียนที่เปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้ง 35% ขึ้นไป
เมื่อถามว่าวิธีการจะทำอย่างไร “ชลธี” บอกว่า เดิมเคยตัดที่เปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้ง 32% แต่ปีนี้กลุ่มดังกล่าวจะตัดทุเรียนที่เปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้ง 35% โดยช่วงระยะเวลาก่อนจะถึง 35% นั้น ทุเรียนจะแขวนไว้ที่ต้นจนถึงช่วงเวลาตัดเพราะจะสุกตามที่ลูกค้าต้องการ แต่ในช่วงที่แขวนไว้ยังไม่ตัด ได้มีการพูดคุยข้อตกลงกับล้งที่เข้าร่วม ว่า จะต้องเป็นผู้จ่ายค่าแขวนไว้ให้กับชาวสวนที่ตามที่ตกลงกัน วิธีการนี้ล้งได้ประโยชน์เพราะได้ทุเรียนคุณภาพ และชาวสวนก็ได้ประโยชน์คือได้ส่วนต่างจากการแขวนรอตัดที่ 35% เรียกว่า วินวิน ทั้ง 2 ฝ่าย
ชลธี บอกว่า เปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้ง 32% คือ เกณฑ์ที่ภาครัฐและทุกฝ่ายร่วมกันออกข้อกำหนดและยอมรับได้ จึงใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ แต่ชาวสวนและผู้ส่งออกที่เป็นแบรนด์ตัวเอง กลุ่มนี้ มองว่า หากส่งออกที่เปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้ง 35% จะทำให้ผู้บริโภคปลายทางได้รับประทานทุเรียนที่มีความพอดี ทั้งรสชาติ และคุณภาพ จึงได้เริ่มทดลองตัดที่ 35% และจำหน่ายในปีนี้
ชลธี บอกว่า สิ่งที่ชาวสวน และผู้ประกอบการ ต้องสู้กับผลไม้จากประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งออกได้ คือ ต้องผลิตผลไม้คุณภาพ หรือส่งออกผลไม้คุณภาพ เพราะหากเราใช้คุณภาพเข้าสู้ อย่างไรแล้วความต้องการก็ยังมีคำสั่งซื้ออยู่ตลอดเวลา มีเท่าไรส่งไปขายก็หมด จึงอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันรักษาเรื่องนี้ไว้