(7 ม.ค. 66) นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เชิญนายประยูร อินสกุล ปลัดก.เกษตรฯและน.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ มารับฟังปัญหาเกษตรกรสวนกล้วยไม้ที่สวนกล้วยไม้ลุงสมศักดิ์ หน้าวัดไผ่เลี้ยง ซ.เพชรเกษม 110 แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กทม.โดยมีตัวแทนสภาเกษตรกร กทม.เข้าร่วม
ภายหลังจากได้พูดคุยพบปะกับเกษตรกรชาวสวนกล้วยไม้โดยตรงแล้ว นายประยูร อินสกุล ปลัดก.เกษตรฯพบว่ามีปัญหาที่ต้องเร่งดำเนินการให้เกษตรกรชาวสวนกล้วยไม้อย่างเร่งด่วน จึงได้มีข้อสั่งการให้ชดเชยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ลงทะเบียนกับกระทรวงเกษตรฯ
พร้อมให้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร หรือ อตก.หาจุดจำหน่ายกล้วยไม้ ดอกจำปี ดอกรัก ให้เกษตรกรเขตหนองแขม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ให้กรมชลประทานแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ คุณภาพน้ำ และการบริหารจัดการให้เพียงพอและเหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่โดยจัดทำรายละเอียดการก่อสร้างประตูระบายนํ้าและบูรณาการร่วมกับ กทม. ให้กรมส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ในพื้นที่แบบแปลงใหญ่ และการบริหารจัดการกิจการของกลุ่มเกษตรกรให้เป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ในการขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ การลดต้นทุน การผลิต การขนส่ง การจดทะเบียนกลุ่มเกษตรกร และการจัดทำบัญชี และให้ผู้ช่วยปลัดกระทรวงฯ (นางสาวนฤมล สงวนวงศ์) ประสานทูตเกษตรฯ ทำหน้าที่เปิดตลาดสินค้า กล้วยไม้ในต่างประเทศ
นายวัชระ เปิดเผยว่า ปัจจุบันของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอายุถึง 130 ปี และเป็นครั้งแรกใน 121 ปีของเขตหนองแขม ที่ปลัดก.เกษตรฯ ได้มาพบประชาชนในพื้นที่ จึงต้องขอบคุณอย่างสูง และ ถือเป็นโอกาสดีที่เกษตรกรจะได้สะท้อนปัญหาโดยตรงให้กับกระทรวงเกษตรฯเพื่อนำไปพิจารณาเยียวยาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่สุดและขอขอบคุณมาดามเดียร์ น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ที่รับว่าจะผลักดันกล้วยไม้ให้เป็นซอฟพาวเวอร์ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับกระทรวงเกษตรฯ มีแนวทางแก้ไขปัญหาสวนกล้วยไม้ คือ 1. เปิดพื้นที่และเป็นจุดกระจายผลผลิตให้แก่เกษตรกรได้นำกล้วยไม้ไปวางจำหน่ายที่ตลาด อ.ต.ก. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดและยกระดับสินค้าสู่ตลาดพรีเมี่ยม 2.ส่งเสริมการรวมกลุ่มและบริหารจัดการกิจการของกลุ่มเกษตรกรให้เป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ในการขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ การลดต้นทุนการผลิต การขนส่งที่คุ้มค่า การจดทะเบียนกลุ่มเกษตรกรและการจัดทำบัญชี 3. มอบหมายกรมชลประทาน แก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ คุณภาพน้ำ และการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอและเหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ โดยจะบูรณาการร่วมกับกรุงเทพมหานครและส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และ 4. เพิ่มช่องทางการตลาดส่งออกให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยให้ทูตเกษตรฯ ทำหน้าที่เปิดตลาดสินค้าเกษตรในต่างประเทศเพิ่มเติม
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ทำการเกษตรปลอดภัยและจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) รวมทั้งการอบรมด้านการควบคุมกำจัดแมลงศัตรูพืชผ่านการจัดกระบวนการรู้เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ตลอดจนการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์เพื่อใช้ในการผลิตสารชีวภัณฑ์เพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่าประสบผลสำเร็จด้านการจัดการสวนกล้วยไม้ตัดดอกให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน GAP มีการผลิตสารชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพ