กรมหม่อนไหมจับมือ อ.ต.ก.เพิ่มช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกร -ผู้ประกอบการ ในการจำหน่ายผ้าไหมไทย

กรมหม่อนไหมร่วมกับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ยกระดับความร่วมมือส่งเสริมและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการ ในการจำหน่ายผ้าไหมไทยที่มีคุณภาพให้กับผู้บริโภค ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ในกิจกรรมหรือโครงการ รวมถึงร่วมกันเผยแพร่ผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างการรับรู้ต่อประชาชน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและประเทศชาติ โดยได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง นายประกอบ เผ่าพงศ์ อธิบดีกรมหม่อนไหม กับ นายปณิธาน มีไชยโย ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ณ บริเวณศาลาไทย ตลาดริมน้ำ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) โดยมีนายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานและสักขีพยาน

         

660100000785
กรมหม่อนไหมจับมือ อ.ต.ก. ยกระดับผ้าไหมไทย

นายประกอบ เผ่าพงศ์ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า กรอบข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว อ.ต.ก. เป็นผู้ดำเนินการจัดหาพื้นที่ ณ ตลาด อ.ต.ก. ให้แก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ และกรมหม่อนไหม เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการจัดจำหน่ายผ้าไหมไทยและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาของกรมหม่อนไหม ส่วนกรมหม่อนไหมเป็นผู้ดำเนินการประสานงานในการจัดหาเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการ ในการจัดหาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยที่มีคุณภาพ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาของกรมหม่อนไหม เพื่อนำมาจำหน่ายอย่างเหมาะสม รวมถึงให้การสนับสนุน ส่งเสริมการจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย หรือกลยุทธ์ด้านการตลาด ตลอดจนกำหนดราคาในการจำหน่ายอย่างเหมาะสม โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันสนับสนุนการจัดกิจกรรมด้านการตลาด และประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง

660100000791
ยกระดับผ้าไหมไทย

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมหม่อนไหม และองค์การตลาดและเกษตรกร หรือ อ.ต.ก. มีภารกิจที่สอดคล้องกันในการส่งเสริม สนับสนุนเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ผู้ทอผ้าไหม ผู้ผลิต ตลอดจนผู้ประกอบการผ้าไหมและผลิตภัณฑ์หม่อนไหมตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะด้านการตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ตามนโยบายตลาดนำการผลิตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำมาสู่ความร่วมมือกันระหว่างกรมหม่อนไหมกับ อ.ต.ก. เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการผ้าไหมและผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยได้มีการออกร้านจัดจำหน่ายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์หม่อนไหมสำหรับเป็นของขวัญของที่ระลึก เมื่อวันที่ 27 – 29 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ ตลาดริมน้ำ อ.ต.ก. และขอเชิญชวนผู้สนใจมาเที่ยวชมเลือกซื้อสินค้าหม่อนไหมคุณภาพดีได้ที่ตลาด อ.ต.ก. ในโอกาสต่าง ๆ ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยมี 4 ชนิด ดังนี้

นกยูงสีทอง (Royal Thai Silk) เป็นผ้าไหมชึ่งผลิตจากวัตถุดิบ เส้นไหม กระบวนการผลิตแบบภูมิปัญญาพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยอย่างแท้จริงและใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านเป็นทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน เส้นไหมจะต้องสาวเส้นด้วยมือผ่านพวงสาวลงภาชนะ การทอด้วยกี่ทอมือแบบพื้นบ้านชนิดพุ่งกระสวยด้วยมือ ย้อมด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และต้องผลิตในประเทศไทย

นกยูงสีเงิน (Classic Thai Silk) เป็นผ้าไหมซึ่งผลิตขึ้นแบบภูมิปัญญาพื้นบ้านผสมผสานกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือและกระบวนการผลิตในบางขั้นตอน ใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านหรือที่ได้รับการปรับปรุงจากพันธุ์ไทยเป็นเส้นพุ่งหรือเส้นยืน เส้นไหมต้องผ่านการสาวด้วยมือ หรืออุปกรณ์ที่ใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนขนาดไม่เกิน 5 แรงม้า การทอต้องทอด้วยกี่ทอมือชนิดพุ่งกระสวยด้วยมือหรือกี่กระตุก และต้องทำการผลิตในประเทศไทย

นกยูงสีน้ำเงิน (Thai Silk) เป็นผ้าไหมซึ่งผลิตด้วยภูมิปัญญาของไทยโดยการประยุกต์เทคโนโลยีการผลิตให้เข้ากับสมัยนิยมและทางธุรกิจ ใช้เส้นไหมแท้เป็นเส้นพุ่งและเส้นยืน ย้อมสีด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทอด้วยกี่แบบใดก็ได้ และต้องผลิตในประเทศไทย

นกยูงสีเขียว (Thai Silk Blend) เป็นผ้าไหมซึ่งผ่านกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ผสมผสานกับภูมิปัญญาไทย เช่น ลวดลาย สีสัน ใช้เส้นใยไหมแท้กับเส้นใยอื่นที่มาจากวัสดุธรรมชาติ หรือเส้นใยสังเคราะห์ต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน หรือตามความต้องการของผู้บริโภค เส้นไหมแท้เป็นองค์ประกอบหลัก มีเส้นใยอื่นเป็นส่วนประกอบรอง สัดส่วนการใช้เส้นใยชนิดอื่นประกอบต้องระบุให้ชัดเจน ทอด้วยกี่ชนิดใดก็ได้ ย้อมสีด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และต้องผลิตในประเทศไทย