นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี (สศท.8 ) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการจัดทำข้อมูลปริมาณการผลิต “ไม้ผลภาคใต้” ปี 2565 ครั้งที่ 2 (ข้อมูล ณ 11 พฤษภาคม 2565) ซึ่ง สศก. โดย สศท.8และ สศท.9 ร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้
พิจารณาผลพยากรณ์ของสินค้า 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 14 จังหวัด คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ระนอง ภูเก็ต ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการวางแผนบริหารจัดการผลไม้ตั้งแต่ต้นฤดู
เนื้อที่ยืนต้น ของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 1,108,655 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีจำนวน 1,082,795 ไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2) โดยทุเรียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น โดยมีการปลูกทุเรียนทดแทนกาแฟ ยางพารา และปลูกเพิ่มในพื้นที่ว่าง
ขณะที่ลองกอง ลดลงร้อยละ 8 เงาะ ลดลงร้อยละ 4 และมังคุด ลดลงร้อยละ 1 เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นเงาะ มังคุด และลองกอง เพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกทุเรียนซึ่งให้ผลตอบแทนดีกว่า ส่วนเนื้อที่ให้ผล มีจำนวน 931,688 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีจำนวน 898,467 ไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4) โดยทุเรียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 และมังคุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ส่วนลองกอง ลดลงร้อยละ 8 และเงาะ ลดลงร้อยละ 3
ด้านปริมาณผลผลิตรวม ของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด คาดว่ามีจำนวน 574,026 ตัน ลดลงจากปี 2564 ที่มีจำนวน 841,134 ตัน (ลดลงร้อยละ 32) โดย ทุเรียน มีจำนวน 465,959 ตัน ลดลงร้อยละ 19 มังคุด มีจำนวน 59,659 ตัน ลดลงร้อยละ 63 เงาะ มีจำนวน 41,858 ตัน ลดลงร้อยละ 36 และลองกอง มีจำนวน 6,550 ตัน ลดลงร้อยละ 82 ซึ่งไม้ผลทั้ง 4 ชนิดลดลง เนื่องจากมีฝนตกตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ดอกและผลร่วง ออกเป็นใบอ่อนแทนการออกดอก ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงตามไปด้วย
สำหรับภาพรวมของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ผลผลิตได้เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา และจะออกต่อเนื่องจนถึงเดือนธันวาคม 2565 โดยผลผลิตจะออกมากสุดช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2565 ซึ่งขณะนี้ ทุเรียน มังคุด เงาะ ส่วนใหญ่อยู่ระยะการเจริญเติบโตอยู่ในช่วงผลเล็ก
โดยทุเรียน ออกดอกแล้ว ร้อยละ 64 เกษตรกรเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 มังคุด ออกดอกแล้ว ร้อยละ 30 เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกช่วงปลายเดือนเมษายน 2565 ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนสิงหาคม 2565 เงาะ ออกดอกแล้ว ร้อยละ 54 เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกได้ช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 และลองกอง ออกดอกบ้างเล็กน้อยร้อยละ 13 ส่วนใหญ่อยู่ในระยะช่อดอกคาดว่าจะทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกได้ช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนกันยายน 2565
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการ “ผลไม้ภาคใต้” จะยึดหลัดการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2564 – 2566 คือ มีข้อมูลการผลิตที่ชัดเจน เพื่อเชื่อมโยงกับตลาดผู้ซื้ออย่างรวดเร็ว ด้วยช่องทางการค้าออนไลน์อย่างเหมาะสม โดยมุ่งเน้น
1) การบริหารจัดการเชิงคุณภาพ จัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ระดับจังหวัด การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลไม้ การสร้างมูลค่าเพิ่มของผลไม้ตลอดฤดูกาลผลิตจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด
2) การบริหารจัดการเชิงปริมาณ มุ่งเน้นการบริหารจัดการจัดสมดุลอุปสงค์ อุปทาน จัดทำข้อมูลความต้องการตลาด และปรับสมดุลข้อมูลของอุปสงค์และอุปทาน เชื่อมโยงข้อมูลประมาณการผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการทางการตลาดของผลไม้แต่ละชนิด
และ 3) จัดเตรียมเหตุรองรับปริมาณผลผลิตในช่วงที่ “ผลไม้” ออกมาก
อย่างไรก็ตามเนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญา ฝนตกติดต่อกันเป็นช่วง ๆ อาจส่งผลให้ปริมาณผลผลิตไม้ผลเปลี่ยนแปลงลดลงได้อีก ซึ่ง สศท.8 และ สศท.9 จะได้ติดตามสถานการณ์โดยร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้อย่างใกล้ชิดต่อไป สำหรับผลการพิจารณาข้อมูลเอกภาพไม้ผล ปี 2565 ภาคใต้ 14 จังหวัด ครั้งที่ 2 นี้ จะนำไปใช้เป็นข้อมูลจัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ ปี 2565 ระดับจังหวัด ระดับภาคใต้ และเสนอต่อคณะกรรมการบริหารและจัดการไม้ผล (Fruit Board) ต่อไป
ผู้ที่สนใจข้อมูลไม้ผลภาคใต้สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.8 โทร. 0 7731 1641 หรืออีเมล [email protected]