จากกระแสข่าวทางโซเชียลมีเดียตั้งคำถาม “มีลูกค้าคาใจแรง พ่อค้าขนลูกทุเรียนขึ้นรถ เอาชุบน้ำปริศนา ผู้รู้แห่เข้ามาคอมเมนต์เฉลย ลั่นไม่ใช่ แค่น้ำธรรมดา! เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่หลายคนให้ความสนใจและคอมเมนต์กันเป็นจำนวนมาก
โดยผู้ใช้เฟชบุ๊กรายหนึ่งได้เผยภาพคลิปวีดีโอ พร้อม ระบุว่า “ชุบน้ำทำไม…ใครรู้ช่วยบอกที” นอกจากนี้ในไลน์กลุ่มผู้สื่อข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการสอบถามเรื่องนี้ไปยังส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำให้เพจเฟสบุ๊ค”ควายดำทำเกษตร” ได้ออกใาให้ข้อมูล ดังนี้…
“เมื่อวานมีข่าวอีกแล้วชาวโซเชียลตื่นเต้นกับการเห็นพ่อค้าทุเรียนชุบน้ำอะไรสีขาวๆ ก่อนเอาทุเรียนขึ้นไปเรียงบนรถแล้วส่งขาย ควายดำละหัวจะปวด ปีที่แล้วยังแห่ชื่นชมการเอาเปลือกทุเรียนไปทำอาหารกันอยู่เลย จนต้องเขียนห้ามกันไม่ทัน มาปีนี้ดันมากลัวการชุบน้ำยาที่เปลือกอีกละ เอาๆ คนไม่รู้ก็คือไม่รู้ ไปว่าเค้าไม่ได้ เลยมาเขียนให้อ่านกันว่าเค้าชุบน้ำยาอะไรก่อนส่งขาย มันจะมีอันตรายไหม มาหาคำตอบกันจะได้เลิกมโนกันไป พ่อค้า แม่ค้า ทุเรียนชุบน้ำยาอะไรก่อนส่งขาย ?
ปรกติหลังจากที่พ่อค้าแม่ค้า ไม่ว่าจะส่งออกหรือขายในประเทศ เวลารับซื้อที่เรียนจากชาวสวนมาแล้วนอกจากจะเอาน้ำยาป้ายขั้ว ( อันนี้เขียนไปแล้วว่าเค้าป้ายทำไม ไปหาอ่านเอา ) อีกขั้นตอนนึงที่สำคัญคือการชุบน้ำยากันเชื้อรานั่นเอง…ทำไมเค้าต้องชุบน้ำยากันเชื้อราก่อนขาย ?
อธิบายง่ายๆก็คือ เปลือกทุเรียนนี่มันมีการเกิดเชื้อราได้ง่ายมาก เพราะเป็นพืชที่ยังกระบวนการหายใจและคายน้ำ หลังการเก็บเกี่ยว ทำให้เกิดความชื้นได้ง่าย หรือบางทีหนามของทุเรียนเวลาขนส่งมันกระแทกกันทำให้เกิดรอยแผล เชื้อราเข้าได้ กว่าจะได้ขายมันทำให้เกิดเชื้อราบนเปลือกเป็นสีน้ำตาลบ้างสีดำ บ้าง ซึ่งการส่งขายไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศเรื่องรูปลักษณ์ก็เป็นเรื่องสำคัญทำให้นอกจากชาวสวนที่พ่นยาป้องกันเชื้อราเป็นเรื่องปรกติอยู่แล้ว เวลามาถึงล้งหรือพ่อค้าแม่ค้าก็จะเอามาชุบยากันเชื้อราอีกทีเพื่อป้องกันเชื้อราอีกรอบ เพราะถ้ามีราบนเปลือกคนมักจะไม่ค่อยซื้อ เกิดความเสียหาย
แล้วทีนี้มาดูว่าเค้าชุบยาอะไร ? ควายดำมีร้านขายปุ๋ยขายยา นอกจากจะขายชาวสวนแล้ว พวกล้งนี่ก็มีขายพวกยาเชื้อราด้วย สารที่นิยมนำมาชุบทุเรียนกันเยอะๆ มักจะเป็นสารที่ออกฤทธิ์สัมผัส เพราะสลายตัวง่าย ไม่ตกค้างนาน มีฤทธิ์ในการป้องกันการระบาดได้เร็ว สารที่นิยมใช้ก็เช่น
– โพไซมิโดน (Procymidone 50% WP)
– โปรคอราซ
– เบโนมิล
– คลอโรทาโรนิล
โดยจะเป็นยาที่ออกฤทธิ์สัมผัส ป้องกันเชื้อราได้ดี และสลายตัวไว จึงเป็นสารที่มักจะมาชุบทุเรียนก่อนนำไปขาย…แล้วทีนี้มันอันตรายกับผู้บริโภคไหม? ตอบตรงๆว่า ไม่มีอันตราย เพราะเรากินเนื้อทุเรียน เราไม่ได้กินเปลือกทุเรียน จะมีอันตรายก็ต่อเมื่อเอาเปลือกทุเรียนไปกินนั่นแหละ ถึงจะน่ากลัว โดยสารพวกนี้จะไม่ได้ซึมเข้าเปลือกจนไปถึงเนื้อทุเรียน จึงกินทุเรียนได้อย่างสบายใจไม่ต้องไปตื่นกลัว
แล้วอีกอย่างอันนี้ขอเน้นอีพวกชอบมโนว่าชุบน้ำยา หรือ แม้กระทั่งป้ายขั้วว่า ส่งออกไม่ได้ ถ้าตรวจเจอจะตีกลับยกตู้ มโนเป็นตุเป็นตะเลยว่า ถ้าไม่ชุบน้ำยากันรา ไม่ป้ายขั้ว รับรองได้ว่าเกิดความเสียหายแน่นอนเพราะถ้าเป็นราดำ หรือมีโรคแมลง ติดเข้าไป จะโดนแจ้งเตือนทันที ซึ่งเราก็โดนกันทุกปี ส่วนใหญ่จะเป็นพวกยาแมลงมากกว่า ทางต้นทางคือชาวสวน พ่อค้า จึงต้องป้องกันเต็มที่ รวมถึงเรื่องป้ายขั้วว่าทำไมต้องเอายามาป้าย มีงานวิจัยแล้วว่าไม่ได้เกิดอันตรายอะไรกับผู้บริโภค เลิกมโนกันได้แล้ว อธิบายแล้วหวังว่าผู้บริโภคจะเข้าใจ และถ้าไม่ได้กินเปลือกทุเรียนก็ไม่ต้องไปกังวลหรือกลัวอะไรหรอก ก็หวังว่าคงจะได้คำตอบแล้วว่าเค้าชุบยาอะไรนะ ด้วยรักจากควายดำทำเกษตร เพจเกษตรอันดับหนึ่งในจักรวาล