สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 โดยส่วนส่งเสริมและประสานงานเครือข่ายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ 10 (ตะกั่วป่า พังงา) ได้รับแจ้งจากนายนพรัตน์ ว่องไวย ราษฎรตำบลนาเตย อ.ท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 เวลา 02:50 น. ว่า พบการขึ้นมาวางไข่ของเต่ามะเฟืองที่ชายหาดนาเกลือ ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา พิกัด 421033 E 908019 N (ห่างจากคอกกั้นฟักไข่เต่ามะเฟือง ของศูนย์เฝ้าระวังฯ ไปทางทิศเหนือประมาณ 670 เมตร) จึงเข้าไปตรวจสอบ พบว่าเต่ามะเฟืองได้วางไข่เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างฝังกลบไข่ แล้วทำหลุมหลอก จากนั้นจึงเดินลงสู่ทะเล
ในการนี้เจ้าหน้าที่ได้วัดร่องรอยขนาดพายหน้าจากซ้ายไปขวา 220 ซม. ขนาดอก 110 ซม. และร่วมกันขุดค้นหาจนพบไข่เต่ามะเฟืองที่ระดับความลึก 72 ซม. ขนาดของไข่ 5.3 ซม. จึงแจ้งศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) เพื่อประสานการปฏิบัติ ตรวจสอบพื้นที่ของหลุมวางไข่แล้วปรากฏว่าอยู่ในแนวที่น้ำทะเลท่วมถึง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไข่เต่ามะเฟือง จึงได้เคลื่อนย้ายพร้อมทั้งตรวจนับไข่เต่ามะเฟืองได้ทั้งสิ้น 131 ฟอง (ไข่ดี 116 ฟอง และไข่ลม 15 ฟอง) นำไปขุดหลุมฟักไข่ใหม่ในพื้นที่คอกกั้นฟักไข่เต่ามะเฟือง ของศูนย์เฝ้าระวังฯ เพื่อเฝ้าระวังดูแล พิทักษ์ ให้ลูกเต่ามะเฟืองได้ฟักและเดินลงสู่ทะเลได้อย่างปลอดภัยต่อไป
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ศวอบ. ได้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิชนิด 2 หัว เพื่อคำนวณวันฟักจากอุณหภูมิไว้ที่หลุมไข่ดังกล่าวและเก็บตัวอย่างไข่ลมเพื่อนำไปศึกษาทางพันธุกรรมต่อไป
ชายทะเลพังงาสมบูรณ์ กรมทะเลชายฝั่ง พบการขึ้นวางไข่ของเต่าทะเลเพิ่ม ที่เกาะพระทอง
ขณะเดียวกัน สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 โดยส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ 10 (ตะกั่วป่า พังงา) ได้รับแจ้งจากอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลบ้านทุ่งดาบเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 ว่า พบร่องรอยการขึ้นมาวางไข่ของเต่าทะเล จำนวน 2 รัง บริเวณชายหาดบ้านทุ่งดาบ หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา จึงร่วมกันเข้าไปตรวจสอบ ปรากฏผลดังนี้
1. ร่องรอยที่ 1 พิกัด 417670 E 1001860 N เป็นร่องรอยการขึ้นมาวางไข่ของเต่ามะเฟือง ตรวจวัดขนาดความกว้างของพายหน้าจากซ้ายไปขวา 170 ซม. ขนาดความกว้างของอก 70 ซม. ขุดค้นหาจนพบไข่เต่าที่ระดับความลึก 70 ซม. ขนาดของไข่ 5 ซม.
2.ร่องรอยที่ 2 พิกัด 417426 E 999109 N เป็นร่องรอยการขึ้นมาวางไข่ของเต่าทะเล ตรวจวัดขนาดความกว้างของพายหน้าจากซ้ายไปขวา 85 ซม. ขนาดความกว้างของอก 40 ซม. ขุดค้นหาจนพบไข่เต่าทะเลที่ระดับความลึก 70 ซม. ขนาดของไข่ 3 ซม.
ตรวจสอบพื้นที่ของหลุมวางไข่เต่าแล้วปรากฏว่าไม่อยู่ในแนวที่น้ำทะเลท่วมถึง และได้กั้นคอกเพื่อป้องกันอันตราย และร่วมกับอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลเฝ้าระวัง ดูแล พิทักษ์ จนกว่าลูกเต่าจะได้ฟักและเดินลงสู่ทะเลได้อย่างปลอดภัยต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในแต่ละปี จะมีเต่าทะเลที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ผสมพันธุ์ตามบริเวณต่าง ๆ ในมหาสมุทร ในตอนผสมพันธุ์ ตัวผู้จะเกาะหลังตัวเมียด้วยการกัดเข้าที่คอของตัวเมียเพื่อไม่ให้หลุด หลังจากปฏิสนธิแล้ว ตัวเมียจะขึ้นหาดขุดทรายวางไข่ โดยเต่าทะเลทุกชนิดขึ้นมาวางไข่เฉพาะเวลากลางคืน ยกเว้นเต่าหญ้าแอตแลนติกเท่านั้นที่มีพฤติกรรมวางไข่ในเวลากลางวันด้วยและส่วนใหญ่จะขึ้นมาวางไข่บนหาดที่ถือกำเนิด ถึงแม้ว่าจะอยู่ห่างไกลแค่ไหนก็ตาม ทั้งนี้สันนิษฐานว่า เต่าทะเลจะกลับมาโดยอาศัยการตรวจจับสนามแม่เหล็กโลก
เต่าทะเลตัวเมียเมื่อขึ้นจากน้ำก็จะคลานขึ้นมาบนหาดเพื่อหาจุดที่เหมาะสมในการวางไข่ แต่ถ้าพบว่าหาดนั้นมีแสงสว่างและเสียงรบกวนจะคลานกลับลงน้ำโดยไม่วางไข่ เมื่อพบจุดที่ต้องการก็จะใช้ขาคู่หลังขุดหลุม จนมีลักษณะคล้ายหม้อสองหู การขุดก็จะทำอย่างระมัดระวังโดยใช้พายข้างหนึ่งโกยทรายแล้วดีดออก เมื่อทรายที่ขุดมากขึ้นก็จะใช้พายอีกข้างช่วยโกยออก ต่อจากนั้นก็จะวางไข่ ซึ่งมีลักษณะนิ่มคลุม โดยเต่าแต่ละตัวสามารถที่จะขึ้นมาวางไขได้สองหรือสามครั้ง
ขณะที่วางไข่อาจมีของเหลวไหลออกมาจากตาทั้งนี้เพื่อรักษาระดับความชื้นและป้องกันทรายเข้าตาซึ่งดูแล้วเหมือนกับว่าเต่าร้องไห้ ซึ่งของเหลวที่ขับออกมานี้คือเกลือ ไข่เต่าแต่ละฟองจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 ถึง 7 เซนติเมตร (1.5-2.5 นิ้ว) หลังจากไข่เสร็จ เรียบร้อยแล้วก็กลบหลุมและทุบทรายให้แน่น แล้วพรางหลุมโดยการกวาดทรายข้างเคียงจนสังเกตตำแหน่งได้ยาก