“ถั่วลิสง” เป็นพืชตระกูลถั่วที่ปลูกได้ตลอดปี เป็นพืชที่มีอายุเก็บเกี่ยวค่อนข้างสั้น ปลูกได้ทั้งต้นฤดูฝน ปลายฤดูฝน และฤดูแล้ง เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของรายได้ให้เกษตรกรและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน
ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น กรมวิชาการเกษตร ได้พัฒนาพันธุ์ถั่วลิสงในกลุ่มที่มีขนาดเมล็ดปานกลางเพื่อให้ได้พันธุ์ที่มีขนาดเมล็ดโตและให้ผลผลิตสูง เพื่อเป็นพันธุ์แนะนำให้เกษตรกรได้เลือกปลูก โดยได้ดำเนินการคัดเลือกพันธุ์และประเมินผลผลิตทั้งในแปลงทดลองและแปลงของเกษตรกร ตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ จนได้ถั่วลิสงพันธุ์ “ถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 9”
ถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 9 มีลักษณะเด่น คือ ขนาดเมล็ดโตกว่าพันธุ์มาตรฐานที่อยู่ในกลุ่มขนาดเมล็ดปานกลาง โดยมีน้ำหนัก 100 เมล็ดเท่ากับ 52.8 กรัม และให้ผลผลิตฝักแห้ง 264 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าถั่วลิสงพันธุ์ไทนาน 9 ที่ให้ผลผลิตฝักแห้ง 247 กิโลกรัมต่อไร่ และขอนแก่น 5 ให้ผลผลิตฝักแห้ง 250 กิโลกรัมต่อไร่
.
โดยรวมเกษตรกรชอบพันธุ์ขอนแก่น 9 ที่ให้ผลผลิตสูง ฝักดก ขนาดฝักและเมล็ดโต และปลิดฝักง่าย ซึ่งถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 9 นี้ถือได้ว่าเป็นงานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์พืชของกรมวิชาการเกษตรที่ตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยเพื่อทดแทนการทำนาปรังในช่วงสถานการณ์ภัยแล้งเนื่องจากถั่วลิสงจัดอยู่ในกลุ่มพืชไร่ที่ใช้น้ำน้อย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถั่วลิสง (peanut หรือ grondnut) อาจเรียกว่า ถั่วดิน ถั่วขุดหรือถั่วยี่สง เป็นพืชล้มลุกที่ เป็นพืชไร่ตระกูลถั่วเช่นเดียวกับถั่วเหลืองและถั่วเขียว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Arachis hypogaea L.เป็นถั่วเมล็ดแห้ง ซึ่งมีน้ำมันสูงจัดอยู่ในกลุ่มพืชน้ำมันที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ
ลักษณะทั่วไป
เมล็ดถั่วลิลงอยู่ในฝักซึ่งอยู่ใต้ดิน เกิดจากดอกสมบูรณ์เพศ หลังจากผสมเกสรแล้วกลีบดอกจะเหี่ยวและร่วง แต่ก้านของรังไข่ขยายตัวยาวออกไปตามแนวดิ่ง เรียกว่า เข็ม ปลายเข็ม แทงลงไปในดินแล้วจึงพัฒนาเป็นฝัก แต่ละฝักมีเมล็ด 2-4 เมล็ด ถั่วลิสงต้นหนึ่งเมื่อถอนออกมามีฝักที่สมบูรณ์อยู่จำนวน 8-20 ฝัก ฝักแก่มีลายเส้นและจะงอยเห็นได้ชัด ฝักคอดกิ่วตามจำนวนเมล็ดในฝัก เมื่อตากให้แห้งแล้วเขย่าจะมีเสียง เยื่อหุ้มเมล็ดมีหลายสี เช่น สีขาว ชมพู แดง ม่วง และน้ำตาล
ส่วนเมล็ด มีใบเลี้ยงขนาดใหญ่ 2 ใบห่อหุ้มต้นอ่อนไว้ภายใน ถั่วลิสงมีอายุ 90-120 วัน(ตามลักษณะของพันธุ์)ถั่วลิสงมีหลายพันธุ์นอกจากถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 9 ยังมีพันธุ์ลำปาง สุโขทัย 38 ขอนแก่น 60-1 ขอนแก่น 60-2 ขอนแก่น 60-3 ไทนาน 9
การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวถั่วลิสง
-ถั่วลิสงจะเก็บเกี่ยวเมื่อฝักสุกแก่ฝักได้เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาล เก็บเกี่ยวโดยถอนต้นและฝักขึ้นจากดิน เลือกปลิดฝักแก่ออก
-หลังการเก็บเกี่ยวจะทำการลดความชื้นด้วยการตากแดดให้แห้งสนิทโดยเร็ว (มีความชื้นในเมล็ดต่ำกว่าร้อยละ 14) เพื่อป้องกันเชื้อราสร้างสารพิษ โดยเฉพาะอะฟลาทอกซิน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งในตับสารพิษนี้ผลิต จากเชื้อรา Aspergillus flavus และ A parasiticus การลดความชื้นจะยับยั้งการเจริญของเชื้อราซึ่งผลิตสารพิษชนิดนี้
-การคัด(sorting)โดยเครื่องคัดขนาดเป็นขั้นตอนหนึ่งที่เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตโดยสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับถั่วลิสงได้ 2 ถึง 3 เท่า
ถั่วลิสง มีการผลิตกันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะภาคเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ประเทศจีนสามารถผลิตถั่วลิสงได้มากถึง 37% แอฟริกา 25% อินเดีย 21%, อเมริกา 8% และโอเชียเนีย 6%
ส่วนการส่งออก ประเทศอินเดียส่งออกถั่วลิสงคิดเป็นสัดส่วน 37% ของการส่งออกทั่วโลก อาร์เจนตินา 13% สหรัฐอเมริกา 10% จีน 8% และมาลาวี 5%
ผู้นำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 17% ของการนำเข้าทั้งโลก (ส่วนใหญ่จะถูกส่งต่อไปยังประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป) อินโดนีเซีย นำเข้าถั่วลิสง 10% ของการนำเข้าทั้งโลก และ เม็กซิโก 7%, เยอรมนี 6% และรัสเซีย 5% ของการนำเข้าทั้งโลกตามลำดับ
ในสหรัฐอเมริกา รัฐจอร์เจียเป็นแหล่งปลูกถั่วลิสงมากที่สุด ตามมาด้วยรัฐเท็กซัสและรัฐอลาบามา ตามลำดับ