ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำแผนปฏิบัติงานด้านการเกษตรของโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ซึ่งโครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่า ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับทรัยากรธรรมชาติ ตามความสมดุลของระบบนิเวศ และพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตของชุมชน นั้น
สศก. ได้ติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการฯ ปีงบประมาณ 2565 พื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ชลบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา และระยอง พบว่า นอกจากสามารถช่วยแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าได้อย่างสมดุลแล้ว และยังช่วยด้านเศรษฐกิจ ให้เกษตรกรยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำกิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการปลูกและการแปรรูปสมุนไพร เช่น แปรรูปน้ำพริกกระวาน น้ำมันหอมระเหย ลูกประคบสมุนไพรจำหน่าย เฉลี่ย 12,924 บาท/ครัวเรือน/ปี สามารถลดรายจ่ายจากการนำผลผลิตที่เพาะปลูกเอง เช่น ชะอม ตะไคร้ เห็ดนางฟ้า ขมิ้น กระชาย ทุเรียน เงาะ มาบริโภคในครัวเรือน เฉลี่ย 8,884 บาท/ครัวเรือน/ปี และลดรายจ่าย โดยการใช้มูลสัตว์ทำปุ๋ยคอก และทำน้ำหมักชีวภาพใช้เองเฉลี่ย 3,853 บาท/ครัวเรือน/ปี ขณะที่ด้านสังคม มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางการผลิตและการตลาด อาทิ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพร กลุ่มปลูกผัก กลุ่มแปรรูปน้ำพริก เป็นต้น
สำหรับปีงบประมาณ 2566 โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ได้กำหนดแผนการจัดการออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์สำหรับเป็นที่อาศัยของช้างป่า อาทิ การป้องกันและเฝ้าระวังช้างป่า สร้างเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่า และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า ด้านที่ 2 การจัดการพื้นที่แนวกันชน อาทิ การจัดการถิ่นที่อยู่อาศัย การดำเนินงานศูนย์ปฏิบัติการคชานุรักษ์ และด้านที่ 3 การจัดการพื้นที่ชุมชน อาทิ พัฒนาชุดกิจกรรมเรียนรู้อนุรักษ์ช้างกับเยาวชน พัฒนาศักยภาพชุมชนและต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามศักยภาพของชุมชน มีเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการฯ ในระดับพื้นที่ โดย สศก. ได้รับมอบหมายในการติดตามผลการดำเนินงานในภาพรวมเช่นเดิม โดยใช้ข้อมูลจากการรายงานของเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และระบบประเมินผลและติดตามโครงการเชิงนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งการติดตามจากเกษตรกรในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัด
ล่าสุด จากการลงพื้นที่ของ สศก. ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 พื้นที่จังหวัดจันทบุรี โดยจัดเก็บข้อมูลจากเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ตัวอย่างรวม 51 ราย ในหมู่บ้านคชานุรักษ์ อำเภอแก่งหางแมว อำเภอสอยดาว อำเภอเขาคิชฌกูฏ พบว่า เกษตรกร ส่วนใหญ่ทำสวนผลไม้ มักได้รับผลกระทบจากช้างป่าทำลายผลผลิต ดังนั้น หน่วยงานต่างๆ ทั้ง 8 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด สำนักงานสหกรณ์จังหวัด สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัด และสำนักงานประมงจังหวัด จึงร่วมให้การสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการปลูกพืชสมุนไพรที่ช้างไม่ชอบ เช่น กระชาย ไพล กระวาน ชะอม เป็นต้น เพื่อป้องกันการทำลายผลผลิตจากช้างป่า และให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพเกษตรกร มีการจัดทำแปลงเรียนรู้สำหรับเกษตรกรต้นแบบ ฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ด้านการเลี้ยงปศุสัตว์ สนับสนุนพันธุ์โคเนื้อ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์และการตลาด อบรมให้ความรู้ด้านการสหกรณ์ แนะนำการทำบัญชีครัวเรือน ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ การปรับปรุงดินกรด/ดินเปรี้ยว และการผลิตกล้าหญ้าแฝก
ภายหลังที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนจากการนำผลผลิต ไปบริโภค เช่น พืชผัก พริก มะนาว ผักหวาน มะเขือ ชะอม ขมิ้น กระชาย ไก่ และปลา เฉลี่ย 5,200 บาท/ครัวเรือน/ปี เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ เช่น แปรรูปน้ำพริกกระวาน น้ำมันหอมระเหย ลูกประคบสมุนไพร เพาะเห็ดนางฟ้า จำหน่ายไข่ไก่ เฉลี่ย 6,000 บาท/ครัวเรือน/ปี
อย่างไรก็ตาม พบว่า เกษตรกรบางส่วนยังขาดองค์ความรู้ในการปลูกพืชสมุนไพร และหน่วยงานไม่ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานโครงการฯ ดังนั้น หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรมีการส่งเสริมองค์ความรู้การปลูกพืชสมุนไพรแก่เกษตรกร ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตให้มากขึ้น และจัดทำคำของบประมาณสำหรับดำเนินงานโครงการฯ ไว้ในแผนปฏิบัติราชการประจำปีด้วย ซึ่ง สศก. มีแผนการติดตามโครงการฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี และสระแก้ว ในเดือนเมษายน 2566 โดยจะรายงานผลการดำเนินโครงการฯ ในระยะต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ร่วมจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการมูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ปี 2566 – 2568 ร่วมกับหน่วยงาน/กระทรวงต่างๆ เพื่อการดำเนินงานแก้ไขปัญหาช้างป่าให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยทางมูลนิธิฯ ได้ขอความร่วมมือหน่วยงาน อาทิ กรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ปอเทือง กรมปศุสัตว์ สนับสนุนเมล็ดพันธุ์อาหารสัตว์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดำเนินการจัดการและเพิ่มพื้นที่แนวกันชนในเขตปฏิรูปที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตร ส่งเสริมกล้าพันธุ์ไม้และถ่ายทอดองค์ความรู้ ต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามศักยภาพชุมชน สำหรับท่าน ที่สนใจผลการติดตามประเมินผลโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ประเมิน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 02 579 8267 ในวันและเวลาราชการ