“ข้าวสังข์หยด” พันธุ์ข้าวพื้นเมืองพัทลุง ความก้าวหน้าอีกขั้นของสินค้าเกษตร

พัทลุงเป็นเมืองเก่าแก่แดนอู่ข้าวใหญ่ภาคใต้ของไทยเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ดินฟ้าอากาศและแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์เหมาะสําหรับการปลูกข้าวบนที่ราบระหว่างเขาหินลูกโดน มีนิทานเล่าขานเป็นตํานานเมืองผู้มาเยือนเมืองพัทลุงจะมองเห็นนาข้าวกว้างไกลสุดสายตา ช่วงต้นฤดูทํานาท้องนาจะเขียวขจีผืนนาเดียวกันจะกลายเป็นทุ่งรวงทองเมื่อข้าวใกล้เก็บเกี่ยวในเดือนมกราคม และ กุมภาพันธ์

สำหรับ “ข้าวสังข์หยด”  เป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมือง เป็นพันธุ์ข้าวเฉพาะถิ่นมีแหล่งปลูกดั้งเดิม อยู่ในจังหวัดพัทลุง ปลูกกันมายาวนาน มีลักษณะพิเศษ คือ ข้าวกล้องมีสีแดงเข้ม นิยมบริโภคในรูปแบบข้าวซ้อมมือ จมูกข้าว เป็นข้าวที่มีคุณค่าทางอาหารสูง พันธุ์ข้าวสังข์หยดถูกเก็บรักษาไว้โดยวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชาวเมือง พัทลุง ตลอดระยะเวลายาวนาน จากหลักฐานการรวบรวมพันธุ์ในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ ตามโครงการบำรุงพันธ์ข้าว เมื่อ พ.ศ. 2493 โดยกองบำรุงรักษาพันธุ์ กรมการค้าข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปรากฏว่า ชื่อข้าวสังข์หยดเป็น 1 ใน 11 ตัวอย่างพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ที่เก็บรวบรวมจากอำเภอเมืองพัทลุง ซึ่งปรากฏใน Locality ที่ 81

327885
นายกฤษณะ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง

นายกฤษณะ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง เปิดเผยว่า ข้าวสังข์หยดเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ปรากฏแหล่งปลูกดั้งเดิมในจังหวัดพัทลุง ในระหว่างปี พ.ศ.2525-2529 ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ได้เก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในภาคใต้ ทั้งหมด 1,997 ตัวอย่างพันธุ์ มีตัวอย่างพันธุ์ข้าวสังข์หยดจาก 3 แหล่ง ได้แก่ สังข์หยด (KGTC82045) จากตำบลโคกทราย อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง สังข์หยด (KGTC82239) จากตำบลท่ามะเดื่อ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุงและสังข์หยด (KGTC82267) จากตำบลควนขนุน อำเภอเขาขัยสน จังหวัดพัทลุง ซึ่งเมล็ดพันธุ์ที่เก็บรวบรวมส่วนหนึ่งส่งไปเก็บที่ศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ และอีกส่วนปลูกรักษาพันธุ์ในศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง

327930
ข้าวสังข์หยดพัทลุง

ซึ่งข้าวสังข์หยดเป็นข้าวที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักกันมานาน และมีลักษณะพิเศษต่างไปจากข้าวพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งเป็นข้าวที่มีชื่อเสียงมาก่อน จึงได้มีการจัดทำคําขอโดยเตรียมข้อมูลต่างๆ ตามขั้นตอนการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยกรมการข้าว ได้ดำเนินการตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2548 และเสนอคําขอขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2549 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ โดยใช้ชื่อในการผลิตเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ว่า “ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง” และได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 ตั้งแต่ วันที่ 23 มิถุนายน 2549 ซึ่งนับว่าเป็นข้าวพันธุ์แรกของประเทศไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

327932
ข้าวสังข์หยดพัทลุง

ทั้งนี้ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทยที่ขอขึ้นทะเบียนสหภาพยุโรปเป็นลำดับต่อจากข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งในการยื่นขอจดทะเบียนในสหภาพยุโรปจะต้องดำเนินการโดยภาคเอกชนกลุ่มผู้ผลิตสินค้า ไม่สามารถดำเนินการโดยภาครัฐได้อย่างในประเทศไทย

327935
ข้าวสังข์หยดพัทลุง

ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐภายในจังหวัดพัทลุง กรมการข้าว และกรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงได้ร่วมกันสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ จัดตั้งเป็นสมาคมผู้ผลิตและค้าข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาการผลิตสินค้าข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงให้เป็นสินค้าที่เป็นของชุมชน ชุมชนในจังหวัดพัทลุงเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ให้คำแนะนำและสนับสนุน ในเชิงวิชาการตามภารกิจของแต่ละหน่วยงานกับกลุ่มผู้ผลิตสินค้าผ่านทางสมาคม ซึ่งการจัดตั้งเป็นองค์กรที่บริหารจัดการโดยกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นความก้าวหน้าอีกระดับของการพัฒนาการผลิตสินค้าข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์