กรมศุลกากรยึดเนื้อสุกรลักลอบเข้าประเทศตามแนวชายแดนไทย – กัมพูชา น้ำหนัก 1,142 กิโลกรัม รวมมูลค่า 137,040 บาท

วันที่ 26 ธันวาคม 2565 กรมศุลกากรร่วมกับทหารพรานและกรมปศุสัตว์ยึดเนื้อสุกรข้ามชายแดน ซุกโกดัง น้ำหนัก 1,142 กิโลกรัม รวมมูลค่า 137,040 บาท บริเวณพื้นที่บ้านหนองเอี่ยน ตำบลท่าข้าม อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการลักลอบนำเนื้อสุกรและชิ้นส่วนสุกรที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรไทย กรมศุลกากรจึงให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต่าง ๆ เข้มงวดในการตรวจค้นจุดที่มีความเสี่ยงในการลักลอบนำเนื้อสุกรและชิ้นส่วนสุกรเข้ามาในประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ASF ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค พร้อมปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในประเทศอย่างต่อเนื่อง

322107084 6193890740622262 989698069895947861 n%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%95
ยึดเนื้อสุกรลักลอบเข้าประเทศ

สำหรับในวันนี้ (26 ธันวาคม 2565) กรมศุลกากรได้รับแจ้งว่าจะมีการลักลอบนำเอาเนื้อสุกรที่ชำแหละแล้วจากฝั่งประเทศกัมพูชาเข้ามาในประเทศทางตามแนวชายแดนไทยกัมพูชาในพื้นที่บ้านหนองเอี่ยน ตำบลท่าข้าม อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว จึงร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารกรมทหารพรานที่ 13 และเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ จังหวัดสระแก้ว นำกำลังไปทำการตรวจสอบบริเวณดังกล่าว พบชายชาวกัมพูชา 2 คน ขณะลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรแช่แข็งบรรจุกระสอบและทยอยนำเก็บในโกดังร้าง เจ้าหน้าที่ศุลกากรด่านศุลกากรอรัญประเทศ และเจ้าหน้าที่ทหารจึงได้แสดงตน เพื่อขอตรวจค้น พบเนื้อสุกรแช่แข็ง ประมาณ 1,142 กิโลกรัม รวมมูลค่า 137,040 บาท ไม่ผ่านพิธีการทางด่านศุลกากร

322401299 2803731793093161 4477549623472557238 n
ยึดเนื้อสุกรลักลอบเข้าประเทศ

เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการสอบถามข้อมูล ทราบว่า ชายดังกล่าวได้รับการว่าจ้างให้ขนเนื้อสุกรข้ามจากชายแดนกัมพูชามาฝั่งไทย โดยนำมาวางไว้บริเวณริมหนองน้ำติดชายแดนกัมพูชา และทยอยนำมาเก็บไว้ในโกดังร้าง การกระทำดังกล่าว เป็นความผิดฐานนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร ตามมาตรา 242 ประกอบมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และของกลางดังกล่าวเป็นซากสัตว์ ผู้ใดนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ต้องได้รับอนุญาตตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 พนักงานศุลกากรจึงใช้อำนาจตามมาตรา 166 มาตรา 167 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 นำผู้ต้องหาพร้อมของกลางดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า จากสถิติการจับกุมการลักลอบนำเนื้อสุกรและชิ้นส่วนสุกรที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 ถึงปัจจุบัน มีจำนวนทั้งหมด 14 คดี รวม 174,832 กิโลกรัม มูลค่า 35,584,340 บาท ทั้งนี้ กรมศุลกากรจะส่งมอบเนื้อสุกรแช่แข็งให้กรมปศุสัตว์เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนมาทางด่านที่เป็นช่องทางธรรมชาติจำนวนมาก เช่น สระแก้ว บุรีรัมย์ อุบลราชธานี มุกดาหาร  โดยเฉพาะด่านหนองคาย ที่มีเข้ามาเป็นจำนวนมาก   ขอให้กรมปศุสัตว์และกรมศุลกากรร่วมดำเนินการตรวจจับหมูเถื่อนอย่างเข้มงวดมากขึ้น  เนื่องจากผู้เลี้ยงมีความกังวลมากกับโรคต่าง ๆ ที่อาจแฝงมากับหมูเถื่อน รวมถึงการปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง  จึงต้องการให้ภาครัฐกวดขันการปราบปรามแบบล้างบางขบวนการนี้ให้หมดสิ้นโดยเร็ว ก่อนที่จะทำลายอุตสาหกรรมหมูไทยทั้งระบบ  

นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังกล่าวอีกว่า  การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง  แม้ว่าภาครัฐทั้งกรมปศุสัตว์และกรมศุลกากร จะออกข่าวการจับกุมมาเป็นระยะ ๆ ซึ่งดูเหมือนว่าการตรวจจับนี้ไม่สร้างความระคายเคืองให้กับขบวนการนำเข้ากลุ่มนี้ และยังคงลักลอบดำเนินการกันอย่างต่อเนื่อง 

“น่าแปลกใจที่การจับยึดหมูเถื่อนในช่วงที่ผ่าน ๆ มา ไม่เคยมีการเปิดเผยให้ทราบถึงต้นตอของผู้ลักลอบนำเข้ามาเลย ทำให้ขบวนการลักลอบนำเข้ายังคงลอยนวล ซึ่งหมูเถื่อนที่นำเข้ามาโดยเฉพาะจากประเทศในยุโรป เป็นหมูหมดอายุ เรียกว่าเป็นขยะของประเทศต้นทาง และปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง ที่ทำให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้ ทางภาครัฐ ทั้งกรมปศุสัตว์และกรมศุลกากร จึงต้องร่วมกันกวาดล้างหมูเถื่อนให้สิ้นซากถึงต้นตอ” นายสิทธิพันธ์ กล่าว