ทบวงประมงญี่ปุ่นเชื่อมั่นประสิทธิภาพ “กรมประมงไทย” ให้อำนาจเต็มออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ 5 กลุ่ม เพื่อความคล่องตัวในการส่งออกสินค้าประมง 

ประเทศไทยโดยกรมประมงโชว์ประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรประมง พร้อมประสานงานกับทบวงประมงญี่ปุ่นจัดทำเอกสาร Flag State Notification เพื่อยืนยันและสร้างความเชื่อมั่นด้านการบูรณาการระดับชาติเพื่อต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ส่งผลให้ทบวงญี่ปุ่นให้อำนาจเต็มแก่ไทยในการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ 5 กลุ่ม ได้แก่ หมึกกล้วยหมึกกระดอง ปลาซันมะ ปลาแมคเคอเรล และปลาซาร์ดีน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นออกกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการทำประมง และกำหนดให้แสดงเอกสารการจับสัตว์น้ำ(Catch Documentation Scheme; CDS) สำหรับสินค้าสัตว์น้ำที่นำเข้าไปยังประเทศญี่ปุ่น 5 กลุ่ม ได้แก่ หมึกกล้วย หมึกกระดอง ปลาซันมะปลาแมคเคอเรล และปลาซาร์ดีน จะต้องแสดงเอกสารยืนยันแหล่งที่มาของสัตว์น้ำว่าไม่ได้มาจากการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) นั้น 

กรมประมงจึงได้มีการเตรียมความพร้อมการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ และการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของสัตว์น้ำตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงสินค้าส่งออก ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องรับทราบขั้นตอนต่าง ๆ พร้อมประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทบวงประมงญี่ปุ่นโดยการจัดทำเอกสาร Flag State Notification เพื่อยืนยันและสร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีการบูรณาการระดับชาติเพื่อต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) 

รวมถึงมีการบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การบังคับใช้กรอบกฎหมายใหม่การจัดการกองเรือประมงและทรัพยากรประมง การควบคุมการทำประมงภายใต้การจำกัดการออกใบอนุญาตทำการประมง

726EA882 6AD9 4506 9902 5CB6F6A29D5B

โดยพิจารณาจากผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน (Maximum Sustainable Yield : MSY) การพัฒนาและเสริมสร้างระบบการติดตาม ควบคุมและเฝ้าระวัง (Monitoring, Control and Surveillance System: MCS) การออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ และพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับอิเล็กทรอนิกส์ (E-traceability) เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของสัตว์น้ำทั้งจากภายในประเทศและที่นำเข้าให้ว่าไม่ได้มาจากการทำประมงIUU การบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษอย่างเคร่งครัด การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อร่วมต่อต้านการทำประมง IUU ตลอดจนการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งมาตรการเหล่านี้ได้รับการยอมรับจากสหภาพยุโรป รวมถึงประเทศญี่ปุ่น 

B80C7268 68D1 45BD AA39 C3C95AE1A103

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการจัดทำเอกสาร Flag State Notification ที่เสนอโดยกรมประมง ซึ่งจะเป็นการยืนยันแก่ประเทศญี่ปุ่นว่าประเทศไทยมีการดำเนินการควบคุมบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ครอบคลุมทุกมิติ และพร้อมที่จะดำเนินการตามมาตรการควบคุมการนำเข้าสินค้าประมงของประเทศญี่ปุ่น 

โดยการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำของสินค้าประมงประเภทที่ 2 และเอกสารอื่น ๆ ตามข้อกำหนด ซึ่งประเทศไทย ผ่านการประเมินและได้รับการประกาศรายชื่อทางเว็บไซต์ภาษาอังกฤษของทบวงประมงญี่ปุ่น ให้กรมประมงเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจเต็มในการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ 5 กลุ่มเพื่อการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นได้ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 

B4C5E119 39C4 4ED6 BF29 05222B7E9C9A

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าประมงดังกล่าวไปยังประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก โดยจากสถิติการส่งออกในปี 2564 มีปริมาณการส่งออกหมึกกล้วย จำนวน 3,540.30 ตัน มูลค่า 1,455.77 ล้านบาท 

หมึกกระดอง จำนวน 2,420.21 ตัน มูลค่า 804.80 ล้านบาท ปลาซันมะ จำนวน 873.26 ตัน มูลค่า209.08 ล้านบาท ปลาแมคเคอเรล จำนวน 7,263.73 ตัน มูลค่า 1,104.89 ล้านบาท 

และปลาซาร์ดีนจำนวน 2,035.95 ตัน มูลค่า 315.45 ล้านบาท รวมสินค้าส่งออกทั้ง 5 ประเภทเป็นปริมาณ 16,133.44 ตันรวมมูลค่าทั้งสิ้น 3,889.99 ล้านบาท

13CD1F10 139B 49D2 B38D 597B1FEB6E18

อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า ในช่วงแรกของการบังคับใช้กฎหมาย กรมประมงและสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว จะประสานงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การส่งออกสินค้าประมง 5 กลุ่มนี้มีความราบรื่น และเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรประมง และความมั่นคงทางอาหาร กรมประมงได้มีการจัดทำระบบการตรวจสอบย้อนกลับ และให้การตรวจสอบได้ 100% 

โดยกระบวนการดังกล่าวยังได้รับความเชื่อมั่นจากกลุ่มตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ นอกจากนี้กรมประมงยังได้หารือกับภาคเอกชนในการเตรียมการเป็นอย่างดี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งภายในและภายนอกประเทศ ภายใต้นโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้แก่ ความปลอดภัย (Safety) ความมั่นคง (Security) และความยั่งยืน(Sustainability)