นายกฯ ปลื้ม FTA ส่งเสริมให้ยอดการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมของไทยไปตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โฆษกรัฐบาลเผยนายกฯ ปลื้ม FTA ส่งเสริมให้ยอดการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมของไทยไปตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขชัด 10 เดือนนี้ยอดส่งออกตลาดคู่ FTA มูลค่า 470 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 3%

วันที่ 25 ธันวาคม 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่อุตสาหกรรมโคนมของไทยพัฒนาดีขึ้น มีมูลค่าการส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทยไปตลาดต่างประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้เปิดเผยข้อมูลการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปตลาดโลกในช่วง 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม 2565) ซึ่งมีมูลค่า 499.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (มกราคม-ตุลาคม 2564) โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่มีความตกลงการค้าเสรี (FTA) มีมูลค่ากว่า 470 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3 สัดส่วนสูงถึงร้อยละ 94.1 โดยสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ นมพร้อมดื่มยูเอชที นมถั่วเหลืองที่มีนมผสม เครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีนมผสม นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต

IMG 63083 20221225105035000000
อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ความตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมของไทยขยายตัว ซึ่งไทยมีอยู่ทั้งหมด 14 ฉบับกับ 18 คู่ค้า โดยปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมเป็นอันดับที่ 7 ของโลก และเป็นอันดับที่ 1 ในอาเซียน ซึ่งการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปตลาดอาเซียนมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 82 โดยในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 คิดเป็นมูลค่า 407 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตลาดคู่ FTA สำคัญที่ในช่วง 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม 2565) ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ได้แก่ จีน ขยายตัว 27.9% ฮ่องกง ขยายตัว 13.1% ญี่ปุ่น ขยายตัว 121.6% 

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นต่อการเจรจาเพื่อเพิ่มความตกลงทางการค้าระหว่างมิตรประเทศ เป็นแนวทางที่รัฐบาลปฏิบัติเพื่อเปิดโอกาสกระตุ้นการค้าการส่งออกระหว่างกัน สำหรับสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทย มีมาตรฐาน และคุณภาพเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ สินค้านมและผลิตภัณฑ์นมยังถือเป็นสินค้าที่เข้ากับกระแสอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคต ทั้งในระดับอาเซียนและระดับโลก ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันพัฒนา ปรับปรุง ผลิตภัณฑ์นมไทยให้มีคุณภาพ เป็นสินค้าที่สร้างโอกาสต่อประเทศและเศรษฐกิจไทย” นายอนุชาฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมโคนมไทยมีความก้าวหน้าเป็นลำดับ ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางข้อมูลอุตสาหกรรมนมของอาเซียน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ให้การส่งเสริมโคนมอาชีพพระราชทาน และพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงโคนมให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความมั่นคง เข้มแข็งในอาชีพ

และเมื่อกล่าวถึงกิจการนมไทย ก็ต้องนึกถึง องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค) ปัจจุบันเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค หรือ นมวัวแดง ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากน้ำนมโคสดแท้ 100% ของฟาร์มเกษตรกรไทย ทำรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 8,700 ล้านบาท มีเกษตรกร และสหกรณ์โคนมในเครือข่ายไม่น้อยกว่า 4,355 ฟาร์ม มีจำนวนโครวม 113,565 ตัว ส่งน้ำนมดิบให้ อ.ส.ค. ประมาณ 581 ตัน/วัน โดยพื้นที่ภาคกลางมีสหกรณ์โคนมที่ส่งน้ำนมดิบมากที่สุดคือ จำนวน 14 สหกรณ์ และจำนวนโครีดนม 47,739 ตัว
  

ในด้านของกระทรวงเกษตรฯ มีแผนเร่งผลักดัน อ.ส.ค.ให้เป็นองค์กรชั้นนำด้านอุตสาหกรรมนม ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน และตั้งเป้าหมายตลาดสำคัญ คือ ประเทศจีน เวียดนาม เนื่องจากเป็นประเทศที่กำลังซื้อสูง และมีสัดส่วนประชากรมาก รวมทั้งเร่งรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการดื่มนมโคแท้ 100% จากน้ำนมโคที่ได้จากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมประเทศไทย ตลอดจนสืบสาน รักษา ต่อยอด อาชีพการเลี้ยงโคนมซึ่งเป็นอาชีพอันทรงคุณค่า โดยมอบหมายให้ อ.ส.ค.ให้ความสำคัญในการการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จนถึงมือผู้บริโภคต้องได้คุณภาพและมาตรฐาน