Egg Board ไฟเขียวแผนการนำเข้าเลี้ยงไก่ไข่พันธุ์ (GP และ PS) ปี 2566

 นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) โดยมีผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนผู้ค้า ผู้เลี้ยงไก่ไข่ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ และผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการนำเข้าเลี้ยงไก่ไข่พันธุ์ (GP และ PS) ปี 2566 ได้แก่ ไก่ไข่ปู่ย่าพันธุ์ (GP) จำนวน 3,870 ตัว และไก่ไข่พ่อแม่พันธุ์ (PS) จำนวน 440,000 ตัว โดยมีแนวทางการจัดสรรโควตาให้แก่ผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์ จำนวน 16 บริษัท โดยใช้โควตาเท่าเดิม (เท่ากับ ปี 2565) และให้เปลี่ยนชื่อ“บริษัท เอเป็กซ์ บรีดเดอร์สฟาร์ม จำกัด” เป็น “บริษัท ซัน บรีดเดอร์ส จำกัด”

 

321715273 1318286248956017 3211780190456953404 n
Egg Board ไฟเขียวแผนการนำเข้าเลี้ยงไก่ไข่พันธุ์

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์ไก่ไข่ปัจจุบัน โดยการเลี้ยงปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ (GP) ปี 2565 มีแผนการเลี้ยง จำนวน 3,800 ตัว นำเข้าเลี้ยงแล้ว 3,730 ตัว (98.16 %) (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ธ.ค. 65 โดยกองสารวัตรและกักกัน/บมจ.ซีพีเอฟ) การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ปี 2565 มีแผนการเลี้ยง จำนวน 440,000 ตัว นำเข้าเลี้ยงแล้ว 395,715 ตัว (89.94 %) (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ธ.ค. 65 โดยกองสารวัตรและกักกัน/บมจ.ซีพีเอฟ) จำนวนไก่ไข่ยืนกรงปัจจุบัน 52.03 ล้านตัว ประมาณการผลผลิต 43.19 ล้านฟองต่อวัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ย. 65) การส่งออกไข่ไก่สด ปี 2565 (ม.ค.- ต.ค.) จำนวน 213.80 ล้านฟอง มูลค่า 829.58 ล้านบาท ปริมาณลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 2.25 ในขณะที่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.84

โดยมีตลาดหลัก คือ สิงคโปร์ คิดเป็นร้อยละ 45 รองลงมา คือ ฮ่องกง ร้อยละ 37 (ข้อมูลกรมศุลกากร) ราคา (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ธ.ค. 65) ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม ฟองละ 3.40 บาท (ข้อมูลโดยกรมการค้าภายใน) ลูกไก่ไข่ตัวละ 28 บาท ไก่ไข่รุ่นตัวละ 170 บาท (ข้อมูลโดยบมจ.ซีพีเอฟ) ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ไตรมาส 3/65 เฉลี่ยฟองละ 3.40 บาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/65 ร้อยละ 7.94 เนื่องจากค่าพันธุ์สัตว์ ราคาอาหารสัตว์ ค่าวัคซีนและยาป้องกันโรค ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ไตรมาส 4/65 เฉลี่ยฟองละ 3.47 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุน ไตรมาส 3/65 พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.06 เนื่องจากค่าแรงงาน ค่าพันธุ์สัตว์ ราคาอาหารสัตว์ ค่าวัคซีนและยาป้องกันโรค ค่าน้ำ ค่าไฟปรับตัวสูงขึ้น (ข้อมูลโดยคณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตไก่ไข่และไข่ไก่)

การดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ของกรมปศุสัตว์ ได้มีการประชุมหารือเพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตไข่ไก่ภายในประเทศ โดยได้เชิญผู้แทนจาก 4 สมาคมไก่ไข่ 4 สหกรณ์ไก่ไข่ ผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์ 16 บริษัท และผู้แทนจากสำนักงานปศุสัตว์เขต 1 – 9 พิจารณากำหนดมาตรการร่วมกัน ซึ่งในปี 2565 ได้มีการประชุมไปแล้ว จำนวน 6 ครั้ง และกำหนดมาตรการในปัจจุบัน

คือ 1) มาตรการขอความร่วมมือผู้เลี้ยงไก่ไข่ยืนกรง ปลดไก่ไข่ตามอายุที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง โดยให้ผู้เลี้ยงไก่ไข่ทุกราย ปลดไก่ไข่ยืนกรงไม่ให้อายุเกิน 80 สัปดาห์ ยกเว้นรายย่อยที่เลี้ยงต่ำกว่า 30,000 ตัว ที่ไม่ใช่ฟาร์มในระบบเกษตรพันธสัญญาของผู้ประกอบการรายใหญ่ และผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ขนาดการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัว ขึ้นไป ปลดไก่ไข่ยืนกรงไม่ให้อายุเกิน 78 สัปดาห์ จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2565

2) มาตรการขอความร่วมมือผู้ผลิตไก่ไข่พันธุ์ (PS) และผู้ผลิตไข่ไก่รายใหญ่ รวมจำนวน 17 ราย เก็บรวบรวมไข่ไก่เพื่อการส่งออกและปลดไก่ไข่ยืนกรงก่อนกำหนด เพื่อชดเชยปริมาณการส่งออก ในเดือนธันวาคม 2565 เป้าหมาย 59.30 ล้านฟอง โดยผลการดำเนินงาน (ณ วันที่ 20 ธ.ค. 65) มีการเก็บรวบรวมไข่ไก่เพื่อการส่งออก จำนวน 27,688,980 ฟอง ปลดไก่ไข่ก่อนกำหนด จำนวน 572,129 ตัว (เทียบเท่าส่งออกไข่ไก่ 13,915,775 ฟอง) รวมดำเนินการแล้ว 41,604,755 ฟอง คิดเป็น 70.15 % จากเป้าหมาย

3) มาตรการสนับสนุนค่าบริหารจัดการเพื่อเร่งการปลดระวางไก่ยืนกรง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่ เพื่อเร่งการปลดระวางไก่ยืนกรง โดยจ่ายเงินสนับสนุนค่าบริหารจัดการสำหรับผู้เลี้ยงไก่ไข่ที่ปลดระวางไก่ไข่มีชีวิตที่อายุในขณะจับอยู่ที่ระหว่าง65 ถึง75 สัปดาห์ในอัตรา10 บาทต่อตัว กรอบการดำเนินการสนับสนุนค่าบริหารจัดการรวมไม่เกิน1 ล้านตัวรวมวงเงินไม่เกิน 10,000,000 บาท จ่ายเงินสนับสนุนสำหรับผู้เลี้ยงไก่ไข่ที่ปลดระวางไก่ไข่มีชีวิต ในระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน ถึง 31 ธันวาคม 2565 ผลการดำเนินงาน มีผู้ขอรับการสนับสนุนแล้ว 5 ราย ปลดไก่ไข่ยืนกรง จำนวน 196,522 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ธ.ค. 65)

  

สำหรับสถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญ ปัจจุบันราคาวัตถุดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นหลังจากเดือนธันวาคมเป็นต้นไป ปัจจัยหลักจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และภัยแล้งจากประเทศปลูกหลัก เช่น จีน และสหรัฐอเมริกา และการอ่อนตัวของค่าเงินบาท ทำให้ราคาวัตถุดิบจะปรับสูงต่อเนื่องจนถึงไตรมาสแรกของปี 2566

MOAC Image
MOAC Image
MOAC Image
MOAC Image