เห็นข่าวทางภาคเอกชนโดยสภาหอการค้าไทยร่วมคณะกระทรวงการต่างประเทศ เจรจาเรื่องนำเข้าปุ๋ยจากซาอุดิอาระเบีย “ขุนพิเรนทร์” นี่รีบส่องมองหา ตัวแทนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ร่วมคณะไปด้วยอย่างท่านที่ปรึกษาอลงกรณ์ พลบุตร ที่ได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียระหว่างวันที่ 15-19 พฤษภาคมนี้ ร่วมกับคณะของรัฐบาลและภาคเอกชนโดยการนำของนายดอน ปรมัติถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
สิ่งหนึ่งที่ “ขุนพิเรนทร์” คาดหวังจากตัวแทนของคณะรัฐบาลชุดนี้คือการเจรจาเรื่องปุ๋ย โดยเฉพาะเรื่องปุ๋ยยูเรีย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้า ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ และราคาอิงกับตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาน้ำมันตลาดโลก
เรามาดูข้อมูลกันว่าไทยมีการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ 5 ล้านตันต่อปี โดยประเทศที่มีการนำเข้า
อันดับหนึ่งจากจีน 1.09 ล้านตัน
รองลงมาเป็นซาอุดิอาระเบีย 7.2 แสนตัน
รัสเซีย-เบลารุส 7.1 แสนตัน
โอมาน 3.67 แสนตัน
เกาหลี 3.32 แสนตัน
แคนาดา 3.27 แสนตัน
“ขุนพิเรนทร์” โฟกัสไปที่ ซาอุดิอาระเบีย เรานำเข้าปุ๋ยเคมีมากถึง 7.2 แสนตัน และแน่นอนคือ เรานำเข้าปุ๋ยยูเรีย จากซาอุฯเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาจาก การ์ต้า มาเลเซีย โอมาน อินโดนีเซีย หากการเจรจาประสบความสำเร็จนี่จะเป็นข่าวดีอย่างหนึ่งของเกษตรกร
อย่าลืมวันนี้ปุ๋ยยูเรียตามท้องตลาดบางพื้นที่ ราคาสูงลิ่ว บางแห่งปาเข้าไปเกือบจะแตะๆ 2,000 บาท อยู่แล้ว พอมาส่องดูนโยบายเรื่องปุ๋ยบ้านเรา ว่ากันตามความเป็นจริง มีแต่เสียงพูดห่วงใย ที่เราหาความจริงจากใจไม่เจอ วันนี้มาตรการที่เป็นรูปธรรมยังไม่มี
ปุ๋ยไม่ใช่พึ่งจะแพง แต่แพงมาได้ปีกว่าๆ ราคาปุ๋ยขยับขึ้นจากต้นปี 2564 มาตรการที่ออกมาไม่สามารถตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาพี่น้องเกษตรกรเรื่องปุ๋ยแพงได้เลย ยิ่งนึกถึงพาณิชย์ช่วยราคาปุ๋ย 20-50 บาท/กระสอบ จำนวน 4.5 ล้านกระสอบ ด้วยแล้ว ยิ่งอ่อนใจ
ส่วนหัวหน้ารัฐบาลอย่างลุงตู่ ลุงก็พูดได้อย่างเดียวว่าห่วง และพยายามแก้ไขอยู่ วันที่ลุงพูดห่วงใยกับทอดยาวมาวันนี้ มีอะไรออกมาให้เกษตรได้เห็นเป็นรูปธรรมหรือยัง
วันนี้…มีข่าวดี แม้จะเป็นข่าวที่ออกมาจากภาคเอกชนคือหอการค้าไทย ที่ร่วมคณะรัฐบาล “ขุนพิเรนทร์” ก็ต้องให้เครดิตทั้งหมด ส่วนใครมาทีหลังจะเคลมผลงานเจรจาซื้อปุ๋ยจากซาอุฯก็ตามสบาย
การแก้ปัญหาปุ๋ยแพง ไม่ใช่แค่พาณิชย์ เกษตรฯแล้วจะจบ แต่กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง ล้วนมีบทบาทสำคัญทั้งนั้น เสียอย่างเดียว คณะกระทรวงเกษตรฯที่ร่วมไปกับรัฐบาล ไม่มีชื่อ นราพัฒน์ แก้วทอง อดีตกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตร ที่จับเรื่องปุ๋ยมาตั้งแต่ต้น น่าจะรู้ปัญหาปุ๋ยมากกว่า ที่ปรึกษาอลงกรณ์ ที่สำคัญ หากฝ่าหัวใจท่านที่ปรึกษาออกมาน่าจะเต็มไปด้วยเกษตรอินทรีย์
เพราะเอาเข้าจริงยอมรับขยาดกับบทบาทของท่านอลงกรณ์ ตั้งแต่หาสารเคมีทดแทนการแบนพาราควอตตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้…ที่ยังไม่มีสารทดแทนที่เทียบชั้นพาราควอตได้เลย
สิ่งที่ต้องตามติดกันต่อไป เมื่อเจรจาแล้ว ผลการเจรจากับทางซาอุฯจะเป็นอย่างไร และจะสามารถช่วยให้ราคาปุ๋ยเคมีในบ้านเราลดลงหรือไม่ ไม่นานเกินรอ