ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(องค์การมหาชน) หรือ สวก. กล่าวว่า สวก. ร่วมกับ มูลนิธิโครงการหลวง ส่วนราชการจังหวัดเชียงราย และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดงานเปิดตัวเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) “รับลมหนาวชมทุ่งดอกเก๊กฮวย” ในวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การแปรรูปดอกเก๊กฮวยอบแห้งด้วยเทคโนโลยีโรงอบแสงอาทิตย์ระบบความร้อนเสริม ระบบควบคุมแบบ IoT ชิม ช้อปผลิตภัณฑ์ชาเก๊กฮวย ชาคาโมมายล์ ชาดอกไม้ และการบรรยายพิเศษจากนักวิจัย เกษตรกร และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับชาดอกไม้เมืองหนาว เพื่อสร้างโอกาสในการต่อยอดทางธุรกิจ และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน
ภายหลังจากที่ สวก.ได้สนับสนุนทุนวิจัย พร้อมได้รับจัดสรรงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการนำเทคโนโลยีโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับระบบให้ความร้อนเสริมควบคุมแบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยี IoT เข้าไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดอกเก๊กฮวยอบแห้งของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฤทธิชัย อัศวราชันย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นหัวหน้าโครงการ
ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จากชาดอกเก๊กฮวยอบแห้ง ชาคาโมมายล์ และชาดอกไม้ ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ มีผลกำไรครั้งแรก ในรอบ 35 ปี ประกอบกับส่วนราชการจังหวัดเชียงราย เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและสร้างโรงอบแห้งให้ได้มาตรฐาน GMP เพื่อแปรรูปสมุนไพรอบแห้ง ในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ
ผนวกกับการสนับสนุนทุนวิจัยอย่างต่อเนื่องของ สวก. ในการพัฒนาเทคโนโลยีเหมาะสม มีการใช้พลังงานทดแทนอย่างครบวงจร โดยพลังงานเครื่องอบแห้งแสงอาทิตย์ความร้อนเสริมด้วยเทคโนโลยีIoT สามารถอบแห้งดอกเก๊กฮวย และคาโมมายล์ ได้มากกว่า 120 ตัน ก่อให้เกิดรายได้มากกว่า 10 ล้านบาทต่อปี และมีเกษตรกรเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 132 ครอบครัว สอดคล้องกับ SDGs ในการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรได้อย่างสมบูรณ์
ปี 2565 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ ยังได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากจังหวัดเชียงรายเพิ่มเติมอีกกว่า 8 ล้านบาท ในการพัฒนาอาคารฐานการเรียนรู้พืชสมุนไพร ชาดอกไม้เมืองหนาว และการพัฒนาโรงเรือนปลูกชาดอกไม้อินทรีย์จำนวน 25 โรง
นับว่าเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการดำเนินโครงการวิจัย จนกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกเก๊กฮวยสีเหลืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และมีเทคโนโลยีการอบแห้งด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม ทั้งด้านการแปรรูปและการใช้พลังงาน ทำให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถมีรายได้ในการดำเนินอาชีพเกษตรกรรมในถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนที่มีความเข้มแข็งและยั่งยืนอย่างแท้จริง