นายกฯกำชับ รับมือ “ฤดูฝน 65″ ย้ำ จัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อ”การเกษตร” ป้องกันอุทกภัย

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่มีประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งการเริ่มต้น “ฤดูฝน” ของประเทศไทย พ.ศ.2565 ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.2565 เป็นต้นไป โดยถือเป็นการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยในปีนี้นั้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ของฤดูฝนปี 2565 โดยเฉพาะ “การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร” ซึ่งขณะนี้กำลังเข้าสู่ฤดูการทำนาปี จึงย้ำถึงการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม รอบคอบ พร้อมกับมีระบบแจ้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ “การทำการเกษตรแก่เกษตรกร” อย่างมีประสิทธิภาพ

1092282
รับมือฤดูฝน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ยังกำชับให้มีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมประเมินสถานการณ์อุทกภัยอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ ทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์เครื่องจักร ต้องพร้อมในการใช้งาน แก้ไขสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที โดยแต่ละหน่วยงานต้องมีกระบวนการประสานงานที่ดี เพื่อให้เกิดการบูรณาการ ทำงานได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังมีความเป็นห่วงการเดินทางสัญจรของประชาชนในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะทางบกและทางเรือ จึงกำชับให้กระทรวงคมนาคมและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ได้ดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน โดยเส้นการคมนาคมทางบก ให้มีการตรวจตราป้ายแจ้งเตือนบนถนนหนทาง ป้องกันสิ่งกีดขวางบนท้องถนน เป็นต้น

ส่วนทางน้ำ ได้ขอให้มีความเข้มงวดเมื่อมีประกาศเตือนภัย หรือ งดให้เรือออกจากฝั่ง หลังจากประเมินว่าอาจส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัย เกิดอันตรายต่อการเดินเรือ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน “กรมอุตุนิยมวิทยา”ประกาศเตือนฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยระบุในช่วงวันที่ 16-17 พ.ค. 65 ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้นกับมีลมกระโชกแรง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ใกล้สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย