กรมประมงเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการร่วม TUMSAT – JICA เพื่อสรุปความก้าวหน้าของงานวิจัยภายใต้โครงการ “Utilization of Thailand Local Genetic Resources to Develop Novel Farmed Fish for Global Market” พร้อมหารือทางวิชาการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และ Tokyo University of Marine Science and Technology (TUMSAT)
โดยในโอกาสนี้ ยังได้มีการเปิดเวทีสัมมนา ในหัวข้อ “Human Resource Development For Promoting Blue Economy” หนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ควบคู่กับการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญภายใต้การทำงานร่วมกันของJICA รวมถึงนักวิจัย อาจารย์ และนิสิตนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาของทั้ง 2 ประเทศ เกษตรกร และผู้สนใจ เข้าร่วมรับฟังกว่า 150 ราย
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากแนวโน้มจำนวนประชากรของโลกที่เพิ่มมากขึ้น กอรปกับกระแสความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพและการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ของผู้คนในยุคปัจจุบัน ได้ส่งผลต่อความต้องการแหล่งอาหารโปรตีนที่ดีเพิ่มมากขึ้น ทำให้กิจกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับความสนใจและมีการให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น
โดยจากข้อมูลสถิติของกรมประมง ในปี 2564 ประเทศไทยจัดเป็นผู้ผลิตสัตว์น้ำรายใหญ่ของโลก อยู่ในอันดับที่ 14 ซึ่งมีผลผลิตรวมกว่า 2,506,700 ตันต่อปี โดยเป็นผลผลิตจากการเพาะเลี้ยง 931,730 ตันหรือคิดเป็น 37.17 เปอร์เซ็นต์ และแบ่งเป็นผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง
20.76 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 16.41 เปอร์เซ็นต์ เป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด
ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ในฐานะที่เป็นหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีหน้าที่หลักในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศให้มีความยั่งยืนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ได้มุ่งมั่นขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศเพื่อรองรับต่อความต้องการบริโภคให้กับประชากรโลกอย่างต่อเนื่อง
โดยได้มีการศึกษา วิจัย และใช้นวัตกรรมเพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการยกระดับขีดความสามารถของเกษตรกรไทยให้มีศักยภาพทัดเทียมนานาประเทศในการสร้างผลผลิตสัตว์น้ำที่มีคุณภาพ พร้อมสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรในระยะยาว ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)
ความร่วมมือของ TUMSAT–JICA ภายใต้โครงการ Utilization of Thailand Local Genetic Resources to Develop Novel Farmed Fish for Global Market ซึ่งมีกรอบระยะเวลา 5 ปี (2562 – 2566) จึงเป็นโอกาสสำคัญที่กรมประมงและนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จะได้ร่วมมือกับนักวิจัยของประเทศญี่ปุ่น ในการศึกษา วิจัย และพัฒนานวัตกรรมการนำทรัพยากรพันธุกรรมของสัตว์น้ำพื้นถิ่น อาทิ ปลากะพงขาว (Asian seabass) และกุ้งแชบ๊วย (Banana shrimp) มาปรับใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทย เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีไปขยายผลและต่อยอด ส่งผลให้เกิดการคงความหลากหลายทางด้านพันธุกรรม และสร้างผลผลิตที่เพิ่มขึ้น
อีกทั้ง การจัดสัมมนาในหัวข้อ Human Resource Development For Promoting Blue Economy ครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์บนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทรัพยากรทะเลและชายฝั่งของไทยอย่างยั่งยืน อันจะสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารต่อไป
สำหรับเนื้อหาในการประชุมที่น่าสนใจ มีดังนี้ 1. การใช้เทคนิคการปรับปรุงพันธุ์ระดับโมเลกุล(Molecular breeding) ในการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีการเจริญเติบโตที่ดีและต้านทานโรค 2. การพัฒนานวัตกรรมการเพาะเลี้ยงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในสัตว์น้ำ 3. การพัฒนาเทคนิคป้องกันโรคสัตว์น้ำ และ 4. การจัดตั้งธนาคารเชื้อพันธุ์ (seed bank)
อธิบดีกรมประมง กล่าวตอนท้ายว่า กรมประมงมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าวนี้ จะนำไปสู่การยกระดับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยให้มีประสิทธิภาพ เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตอบสนองต่อความต้องการผู้บริโภค และพร้อมนำภาคการประมงไทยก้าวสู่การเป็นมหานครแห่งครัวโลกต่อไป