วันที่ 20 ธ.ค.65 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายเอนก ก้านสังวอน ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยมีนายการุณ แปลงรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 16 และผู้เกี่ยวข้อง สรุปสถานการณ์น้ำ ณ สำนักงานชลประทานที่ 16 จังหวัดสงขลา
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ฝนที่ตกสะสมติดต่อกันหลายวันในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างในเขตสำนักงานชลประทานที่ 16 (จังหวัดสงขลา พัทลุง ตรัง และสตูล) ตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค. เป็นต้นมา ส่งผลให้ระดับน้ำในลุ่มน้ำสายหลักเพิ่มสูงขึ้น อาทิ คลองอู่ตะเภา คลองนาท่อม คลองปะเหลียน แม่น้ำตรัง คลองดุสน และคลองละงู มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตรบางแห่ง ได้รับผลกระทบ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา ในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ รัตภูมิ คลองหอยโข่ง ระโนด และสทิงพระ ส่วนในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ได้แก่ ควนขนุน เมืองพัทลุง กงหรา เขาชัยสน บางแก้ว และป่าบอน
กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 16 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องสูบน้ำแบบ Hydro flow และเครื่องผลักดันน้ำ ในพื้นที่จังหวัดสงขลา พัทลุง ตรัง และสตูล รวม 78 หน่วย เพื่อเร่งระบายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน พร้อมติดตั้งเครื่องจักรกลสูบน้ำส่งกำลังด้วยระบบไฮดรอลิก ขนาดท่อ 42 นิ้ว อัตราการสูบน้ำ 3.5 ลูกบาศก์เมตร์/วินาที จำนวน 1 เครื่อง บริเวณซอยเพชรมาลัย 3 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำออกจากเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ลงสู่คลองเตย ขณะที่ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ได้เร่งระบายน้ำในคลองรัตภูมิ ด้วยการเปิดบานระบายฝายชะมวงและประตูระบายน้ำรัตภูมิเพิ่มขึ้น เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากในพื้นที่
ด้านจังหวัดพัทลุง ได้บริหารจัดการน้ำบริเวณคลองท่าแนะ ด้วยการเปิดบานระบายน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำตามระบบชลประทานออกสู่ทะเลโดยเร็วเช่นกัน ภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมขังในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายลง ระดับน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว แม้ว่าปริมาณฝนจะเริ่มลดลง แต่ยังคงเฝ้าระวังสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝนของภาคใต้
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 อย่างเคร่งครัด พร้อมบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม และตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อน อาคารชลประทาน และคันกั้นน้ำต่าง ๆ ให้มีความพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเปิดทางน้ำให้ไหลสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งให้เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือและลดผลกระทบจากอุทกภัยได้อย่างทันท่วงที ที่สำคัญให้ประสานงานและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ ตลอดจนสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ แนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างต่อเนื่องด้วย
นอกจากนี้ ได้กำชับให้แต่ละโครงการชลประทานศึกษาแนวทางการแก้ไขและบรรเทาอุทกภัย ทั้งแบบเผชิญเหตุและในระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสภาพอากาศว่า ในช่วงวันที่ 20 – 23 ธ.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า
ส่วนในช่วงวันที่ 24 – 25 ธ.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิลดลงเล็กน้อยและยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาว
สำหรับในช่วงวันที่ 19 – 20 ธ.ค. 65 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2 – 4 เมตร ทะเลอันดามันห่างฝั่งมีคลื่นสูง 2 – 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร
ส่วนในช่วงวันที่ 21 – 25 ธ.ค. 65 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง