ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์ อุทกภัยภาคใต้ช่วงภัยวันที่ 5 เม.ย.65 – ปัจจุบัน
พบว่าด้านพืช ได้รับผลกระทบ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี เกษตรกร 33,783 ราย พื้นที่ 21,115 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 10,485 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 5,954 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้นและอื่นๆ 4,677 ไร่
สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 336ราย พื้นที่ 1,692ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 1,077ไร่ พืชไร่และพืชผัก 548ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้นและอื่นๆ 67ไร่ คิดเป็นเงิน 2.80ล้านบาท
ด้านประมง ได้รับผลกระทบ 2 จังหวัด ได้แก่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เกษตรกร 788 ราย รวมพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 933 ไร่ แบ่งเป็น บ่อกุ้ง 12 ไร่ และบ่อปลา 921 ไร่ กระชัง 4,311 ตร.ม. อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย
ด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี เกษตรกร 18,082 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 640,735 ตัว แบ่งเป็น โค 11,559 ตัว กระบือ 321 ตัว สุกร 63,424 ตัว แพะ/แกะ 3,879 ตัว สัตว์ปีก 561,552 ตัว แปลงหญ้า 634 ไร่ อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศ ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบถึงวันที่ 17 พ.ค. 65) ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 15 พ.ค. 65 โดยบริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้นกับมีลมกระโชกแรง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้น
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยประชาชนจากสภาพอากาศฝนตกหนักในช่วงนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมจากพายุได้ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อม เพื่อเข้าไปดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วนและทันท่วงที
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สำหรับในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หากมีฝนตกหนัก อาจมีปัญหาการจราจรติดขัดได้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่อย่างเต็มที่โดยเฉพาะในส่วนของกรุงเทพมหานคร กำชับให้มีการเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ ยานพาหนะ และเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อมสำหรับการปฏิบัติงาน
โดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่มีน้ำท่วมขังและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมขัง หากมีฝนตกในปริมาณมาก อาจส่งผลให้มีน้ำท่วมขังบนผิวจราจรในบางพื้นที่ ขอให้กรุงเทพมหานครเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยเบสของสำนักการระบายน้ำและของสำนักงานเขตพื้นที่ เข้าเร่งระบายน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถดำเนินการได้
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีฝากความห่วงใยให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ขอให้เพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองรวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ใกล้สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงด้วย
นายกฯยังได้ฝากขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพ จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากฤดูร้อนเป็นฤดูฝน ซึ่งประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝน อากาศจะเริ่มเย็นลงและมีความชื้นเพิ่ม ทำให้เชื้อโรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น ซึ่งโรคที่พบบ่อยส่วนมากในช่วงฤดูฝนตามข้อมูลของสาธารณสุขมีหลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ กลุ่มโรคติดต่อทางน้ำดื่มและอาหาร กลุ่มโรคที่มียุงเป็นพาหะ กลุ่มโรคติดเชื้อทางบาดแผลและเยื่อบุผิวหนัง รวมถึงโรคมือเท้าปากที่มักพบบ่อยในเด็ก จึงขอให้ประชาชนเฝ้าระวังและป้องกันดูแลสุขภาพตนเองให้ห่างไกลจากโรคดังกล่าว รวมทั้งขอให้ประชาชนติดตามการแจ้งเตือนสภาพอากาศจากภาครัฐอย่างใกล้ชิดด้วย” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว