นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบโค ในโครงการธนาคารโค – กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ มอบเวชภัณฑ์ฟื้นฟูสุขภาพสัตว์ และมอบพันธุ์ปลา ณ สหกรณ์การเกษตรแม่สรวย จำกัด อ.แม่สรวย และอบต.เวียง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย โดยมี นายวิวัฒน์ ไชยชอุ่ม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนและเกษตรกรเข้าร่วม ว่า โครงการธนาคารโค – กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานมอบโคให้แก่เกษตรกรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากจน ได้มีโคเป็นทรัพย์สินของตนเอง และขยายผลให้กับเกษตรกรข้างเคียง เป็นปัจจัยในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ได้มูลโคเป็นปุ๋ยคอกเป็นการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ทำให้เกษตรกรมีรายได้และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการรวมกลุ่ม สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอีกด้วย
รมช.ประภัตร กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ได้ส่งมอบโค ในโครงการธนาคารโค – กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ แก่พี่น้องเกษตรกร จ.เชียงราย จำนวน 55 ตัว โดยมอบให้กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ อ.แม่สรวย 15 ราย อ.พาน 26 ราย และ อ.เวียงป่าเป้า 14 ราย พร้อมเวชภัณฑ์ฟื้นฟูสุขภาพสัตว์ และแนะนำ “โครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร” ทั้งกำชับให้ส่วนราชการกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เร่งทำประชาสัมพันธ์โครงการ และสนับสนุนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ โดยโครงการดังกล่าวฯ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดย ธ.ก.ส จะปล่อยสินเชื่อให้เป็นทุนหมุนเวียนแก่เกษตรกร สำหรับใช้ประกอบอาชีพการเกษตรเน้นอาชีพที่มีตลาดรองรับ โดยกระทรวงเกษตรฯ จะช่วยหาตลาดให้ มีการประกันราคารับซื้อผลผลิต สามารถสร้างรายได้ในระยะสั้น 4 – 6 เดือน ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้รับการอนุมัติวงเงินกว่า 30,000 ล้านบาท ปล่อยกู้เป็นรายบุคคล หนี้เสียสามารถกู้ได้ สามารถใช้บุคคลรวม 3 คน หรือหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ โดยจะปล่อยกู้สูงสุดรายละ 100,000 บาท /1 – 3 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 และปีที่ 4 – 5 ดอกเบี้ยตามปกติของธนาคาร ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขาใกล้บ้าน
โค-กระบือ มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตการผลิตของสังคมไทยมาแต่โบราณ ถือได้ว่าเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญมาก เพราะเป็นแรงงานอย่างเดียว ซึ่งทำหน้าที่แทนเครื่องจักรกลช่วยให้แรงงานในกระบวนการผลิตข้าวเกือบทุกขั้นตอน ตั้งแต่ไถพรวน นวดข้าว จนกระทั่งถึงการขนย้ายผลผลิต ในบางท้องที่ยังใช้แรงงานจากโค-กระบือ ฉุดลากเครื่องทุ่นแรงในการสูบน้ำและใช้ลากเกวียน เพื่อการขนส่งในชนบททุรกันดารอีกด้วย เราเพิ่งตระหนักว่า โค-กระบือ มีจำนวนไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกรในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ที่ผ่านมานี้เอง ประมาณว่า มีความต้องการโค-กระบือ เพื่อใช้งานปีละ ๖-๘ ล้านตัว แต่ในปัจจุบันนั้น ทั่วประเทศมีการเลี้ยงโค-กระบือ เพื่องานดังกล่าวเพียง ๕ ล้านตัวเท่านั้น ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความก้าวหน้าและการขยายตัวของเทคโนโลยี ทำให้เกษตรกรหันมาใช้เครื่องจักร และเครื่องมือทุ่นแรงนานาชนิด ทดแทนการใช้แรงงานแบบดั้งเดิม
วิถีการผลิตแบบใหม่เช่นนี้ประสิทธิภาพและให้ผลผลิตสูง แต่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีระดับต่าง ๆ ต้องใช้พลังงานและจำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมากด้วย ดังนั้นสำหรับเกษตรกรที่มีฐานะยากจน มีพื้นที่ทำกินขนาดเล็ก จะไม่สามารถดำเนินวิถีการผลิตเช่นนี้ได้ ในขณะเดียวกันก็พลอยได้รับผลกระทบจากแนวโน้นการเปลี่ยนที่เกิดขึ้น ไปด้วย เพราะโค-กระบือ ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของวิถีการผลิตแบบดั้งเดิม กลายเป็นสิ่งหายากและมีราคาสูง จากการศึกษาของธนาคารโลกพบว่า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเกษตรกรร้อยละ ๒๐ ที่ไม่มีโค-กระบือเป็นของตนเอง ต้องเช่าโค-กระบือเสียค่าเช่าในอัตราสูงคิดเป็นข้าวเปลือก ๕๐-๑๐๐ ถังต่อปี บางครั้งผลผลิตที่ได้ ก็ไม่เพียงพอที่จะชำระค่าเช่า ทำให้เกษตรกรเกิดภาระหนี้สิน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของความยากจนและความเดือนร้อนในการดำรงชีวิต
ปัจจุบัน ธนาคารโค-กระบือ เป็นที่รู้จักกันกว้างขวางขึ้นว่าเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรยากจนที่ไม่มีโค-กระบือ เป็นของตนเอง โดยการแบ่งเบาภาระค่าเช่า หรือดำเนินการเพื่อให้เกษตรกรมีโอกาสได้เป็นเจ้าของโค-กระบือเพื่อใช้แรงงานต่อไป