เฉลิมชัย ปลื้มกรมปศุสัตว์ขึ้นทะเบียนไข่ครอบสงขลา เป็นสินค้า GI กระทรวงเกษตรฯ พร้อมหนุนไข่ครอบเป็นสินค้า GI สำหรับคนสงขลา
ประเด็นที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศโฆษณาการรับขึ้นทะเบียน “ไข่ครอบสงขลา”เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยไข่ครอบสงขลาเป็นสินค้าปศุสัตว์ที่กำลังจะเป็นสินค้า GI เป็นลำดับที่ 5 ต่อจาก ไข่เค็มไชยา หมูย่างเมืองตรัง เนื้อโคขุนโพนยางคำ และผ้าฝ้ายทอผสมขนแกะบ้านห้วยห้อม
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอประกาศสนับสนุนให้ไข่ครอบสงขลา เป็นสินค้า GI เพื่อเพิ่มโอกาสด้านการตลาดและช่องทางการจำหน่ายตลอดห่วงโซ่การผลิต ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ด ผู้แปรรูปไข่ครอบ และผู้ประกอบการร้านอาหารให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดสงขลาให้เติบโตอย่างยั่งยืน
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ไข่ครอบสงขลา” เป็นภูมิปัญญาในการถนอมอาหารของชาวประมงในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ โดยนำไข่แดงจากไข่เป็ด 2 ใบ ใส่ลงในเปลือกไข่ที่ตัดแต่งขอบ แล้วนึ่งจนมีสีแดงอมส้ม ผิวมันวาว ข้างนอกสุก ข้างในเป็นยางมะตูม มีรสชาติเค็มเล็กน้อยเป็นอาหารอัตลักษณ์พื้นถิ่นของจังหวัดสงขลา ไข่แดงมีขนาดใหญ่ สีแดงอมส้ม วางประกบกันสองลูกลักษณะเหมือนรูปหัวใจ เนื้อสัมผัสมีความเหนียวหนึบหนับ รสชาติ มีความมันและเค็มเล็กน้อย กลมกล่อมไม่มีกลิ่นคาว ผลิตในในพื้นที่อำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ อำเภอกระแสสินธุ์ และอำเภอระโนด ของจังหวัดสงขลา
มีวิธีการทำโดยนำไข่เป็ดแยกไข่แดงออกจากไข่ขาว ตัดแต่งขอบเปลือกไข่ให้สวยงามแล้วนำไข่แดง 2 ฟอง ใส่ลงไปในเปลือกไข่ โรยน้ำเกลือ หมักทิ้งไว้ 5 – 6 ชั่วโมง แล้วนึ่งให้ผิวไข่แดงสุกด้านในเป็นยางมะตูม รับประทานคู่กับอาหารพื้นถิ่น เช่น ข้าวยำ ขนมจีน แกงเหลือง เป็นต้น
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 กรมปศุสัตว์ ร่วมกับ จังหวัดสงขลา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และผลักดัน “ไข่ครอบสงขลา” สินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้า GI ของจังหวัดสงขลา ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา โดยมีการสาธิตการทำอาหารจากไข่ครอบสงขลา ได้แก่ ทาร์ตไข่ครอบ สปาเก็ตตี้คาโบนาร่าไข่ครอบ และยำไข่ครอบ เพื่อผลักดันไข่ครอบเป็นสินค้า GI ของจังหวัดสงขลา โดยกิจกรรมในครั้งนี้ได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไข่ครอบสงขลาให้แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นข้อมูลในการบริโภคและเป็นแนวทางให้กับผู้จำหน่ายในการเพิ่มมูลค่าไข่ครอบเป็นเมนูอาหารที่หลากหลาย