“การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)” เผยถึงสถานการณ์ “ยางพารา” ไตรมาส 2/2565 ยังอยู่ในแนวบวกจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดยังน้อยและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ผลักดันทุกภาคส่วน เพิ่มขีดความสามารถ สร้างความเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาสู่การทำธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมผ่านกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(3) พร้อมชูธงเป็นผู้นำขับเคลื่อนมาตรการ ZERO CARBON ในสวนยางในประเทศไทย
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศส่งผลโดยตรงกับภาคการเกษตรของประเทศไทย การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอุณหภูมิส่งผลอย่างมากต่อผลผลิต ดังนั้นการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตของ“ยางพารา” อาจต้องมีการปรับเป็นรายเดือน หรือรายไตรมาสเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความผันผวนของสภาวะอากาศที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม วันนี้ กยท. พร้อมเป็นผู้นำขับเคลื่อนมาตรการ ZERO CARBON ในภาคการเกษตร ส่วนแนวโน้มราคายางปรับตัวสูงขึ้น คาดว่าจะสูงกว่ากิโลกรัมละ 60 บาท อย่างแน่นอน
โดยในปี 2565 จะทำสวนต้นแบบของ กยท.และในปี 2569 เข้าสู่มาตรการ CBAM (ภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน) อย่างน้อย 1 ล้านไร่ และภายในปี 2573 สวนยางพาราในประเทศไทยอย่างน้อย 10 ล้านไร่ ต้องเข้าสู่กระบวนการคาร์บอนเครดิตสวนยางและได้รับประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ในปี 2593
พื้นที่สวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ทั้งหมดเข้าสู่มาตรการ Carbon Neutrality สำหรับโครงการ ZERO CARBON กยท. ได้รับความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หน่วยงานภาคการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล รวมไปถึงสภาอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการที่ส่งออกทางเรือ เป็นต้น
การผลักดันโครงการนี้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะใช้เป็นกลไกลสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ กยท. พร้อมจะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเต็มที่เราจะต้องร่วมกันสร้างความยั่งยืนเพื่ออนาคตของเรา
ผู้ว่าการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กยท. เดินหน้าส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านยางพารา สู่ภาคธุรกิจยางพาราในประเทศไทย ยกระดับเพิ่มขีดความสามารถ ผลักดันกลุ่ม ธุรกิจ Startup ด้านยางพารา ให้สามารถเข้าร่วมแข่งขันในตลาดโลกในปีนี้ กยท.ได้จัดโครงการ Natural Rubber Startup Acceleration Program: Batch 2 by RAOT and PSU ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2
โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ นิสิต นักศึกษา และผู้ที่สนใจใน ธุรกิจ startup ด้านยางพารา เพื่อส่งเสริมสนับสนุน แนวคิดธุรกิจ startup ยางพาราให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก พร้อมเพิ่มปริมาณการใช้ยางธรรมชาติภายในประเทศ สร้างมูลค่าให้กับยางพารา โดย กยท. พร้อมต่อยอดผลงาน Startup ให้ใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งอยู่ภายใต้งบประมาณสนับสนุนกว่า 1.6 ล้านบาทจากกองทุนพัฒนายางพารา 49(3)
นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง เผยปัจจัยที่มาผลต่อ “ราคายาง” ในช่วงไตรมาสที่ 2/2565 ว่า ผลผลิตยางเดือนมกราคม – เมษายน 2565 ผลผลิตยางทั่วโลกมีประมาณ 4.426 ล้านตัน และมีการใช้ยางประมาณ 4.523 ล้านตัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทั่วโลกมีความต้องการใช้ยางมากกว่าผลผลิตยางที่ออกสู่ตลาด ประมาณ 97,000 ตัน
สำหรับประเทศไทยในไตรมาสที่ 2/2565 คาดมีผลผลิตออกสู่ตลาด 0.763 ล้านตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 14.37% โดยในเดือนพฤษภาคม และเดือนมิถุนายน คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 0.209 ล้านตัน และ 0.393 ล้านตัน ตามลำดับ เนื่องจากสภาพอากาศและฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน โดยกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีฝนตกต่อเนื่องไปจนถึงปลายเดือนมิถุนายน ประกอบกับสถานการณ์โรคใบร่วงที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อมีฝนตกหนัก
สำหรับการส่งออกยางและสต๊อกยาง ในไตรมาสที่ 2/2565 คาดว่าจะมีการส่งออกยาง 0.994 ล้านตัน ลดลง 6.36% ในขณะที่สต็อกยางของประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักผู้ซื้อยางจากไทย พบว่า ช่วงไตรมาสที่ 1/2565 มีปริมาณยางในสต๊อกเพิ่มขึ้นจากปลายปี 2564 แต่น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนส่วนเมษายนที่ผ่านมาก็ลดลงจากเดือนก่อน ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนให้การส่งออกเพิ่มขึ้น
ผอ.ฝ่ายเศรษฐกิจยาง กล่าวเสริมว่า ตัวชี้วัดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยางคู้ค่าที่สำคัญของไทยทั้ง สหรัฐอเมริกา EU ญี่ปุ่น ยังคงขยายตัว ดัชนี PMI ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำ GDP ประเทศสหรัฐอเมริกา EU ญี่ปุ่น ยังคงขยายตัวอยู่เหนือระดับ 50 อยู่ที่ 59.20 55.50 และ 53.50 ตามลำดับอุตสาหกรรมยางล้อเพิ่มการผลิตสูงขึ้น อุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์นั่งขนาดเล็กฟื้นตัวขึ้นหลังสถานการณ์ Covid-19 เริ่มคลี่คลาย โดยเฉพาะ จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น มียอดผลิตและความต้องการเพิ่มขึ้น 10.2% 19.3% และ13.1% ตามลำดับ
ด้านอุตสาหกรรมยางล้อรถบรรทุก มียอดผลิตและความต้องการเพิ่มสูงกว่าช่วงก่อนสถานการณ์ Covid-19 โดยจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา มีผลิตเพิ่มขึ้น 2.5% 16.9% และ 16.4% ตามลำดับ
ปริมาณการผลิตรถยนต์/รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2021 อยู่ที่ 6.5 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 109% จากปีก่อนหน้า ซึ่งจีนมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามากถึง 3.2 ล้านคัน ส่วนแบ่งตลาด 15% จากยอดขายรถยนต์ใหม่ในจีน คิดเป็นส่วนแบ่งราวครึ่งหนึ่งของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ทำให้จีนเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างมากในปี 2022 นี้ ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าต้องใช้ “ยางล้อ” โดยเฉพาะ ไม่สามารถใช้ยางรถทั่วไปได้
ดังนั้น ความต้องการใช้ “ยาง” เพื่อนำไปผลิตยางล้อรถไฟฟ้าจึงเพิ่มสูงขึ้นด้วยประกอบกับสถานการณ์การขนส่งทางเรือทิศทางดีขึ้น ค่าขนส่งทางเรือปรับตัวลดลง ยอดผู้ติดเชื้อ Covid-19 ลดลง ทำให้กิจกรรมในหลายประเทศกลับมาเป็นปกติ เศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มฟื้นตัว
ทั้งนี้มีปัจจัยที่ต้องระวังในเรื่องของต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมยางเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลมาจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา สร้างความเสี่ยงต่อภาวะเงินทุนไหล และอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงิน แต่ส่งผลดีต่อการส่งออกยางของไทย เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินอ่อนค่าลง
นายดิษฐเดช วัฒนาพร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร กล่าวถึง การขับเคลื่อนวงการยางพาราของไทย ผ่านกองทุนพัฒนายางพารา 49(3) ว่า กยท. ได้รับการจัดเงินสรรผ่านกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (1) (2) (3) (4) (5) (6) ตามภารกิจที่ กยท. ได้รับมอบหมายตาม พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558
โดยกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(3) เป็นเงินให้กู้ยืมและเงินอุดหนุน เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยาง ด้านการปรับปรุงคุณภาพผลผลิต การผลิต การแปรรูป การตลาดและอุตสาหกรรมแปรรูปยางขั้นต้น อุตสาหกรรมผลิตผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมไม้ยาง และการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องกับยางพารา รวมถึงการรวบรวมผลผลิต เกิดความเข้มแข็งมีความมั่นคงทางรายได้ และเกิดการพัฒนาสู่การทำธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดต้นทุนการผลิต นำไปสู่การรักษาเสถียรภาพราคายาง
นายดิษฐเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาในปี 2564 จัดสรรเป็นเงินกู้ยืม จำนวน 455,000,000 บาท งบอุดหนุน จำนวน 168,412,683 บาท งบประมาณรวมทั้งสิ้น 623,412,683 บาท โดยมีการจัดทำโครงการใช้ไปแล้วรวม 365,600,040 บาท ซึ่งมีหลายสหกรณ์ที่ประสบความสำเร็จให้ได้เห็น
อาทิ สหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดลำปาง จำกัด ได้รับเงินอุดหนุน 3,600,000 บาท นำไปสร้างลานตากยาง และโกดัง เพื่อรวบรวมผลผลิตยางเข้าร่วมโครงการชะลอการขายยางฯ ตากให้แห้ง เข้าโกดังจัดเก็บผลผลิตยางเพื่อรอจำหน่ายในโครงการชะลอการขายยางฯ หรือไว้ขายในช่วงราคาที่สูงขึ้น ใช้เงินอุดหนุน 2,500,000 บาท
ซึ่งทางสหกรณ์ได้ดำเนินการรวบรวมยางก้อนถ้วยปริมาณ 6,635,926.90 กก./ปี มูลค่า 187,914,599.89 บาท/ปี คิดเป็นมีกำไร 2,486,870.64 บาท/ปี และนำไปจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อใช้ในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาง เงินอุดหนุน 1,100,000 บาท ได้กำไร 437,456.48 บาท และสหกรณ์นิคมทุ่งสง จำกัด จ.นครศรีธรรมราช ได้รับเงินอุดหนุน 4,060,000 บาท นำไปจัดซื้อพาเลทวางยางอัดก้อน ก่อสร้างอาคารส่งมอบยางโรงงานยางอัดก้อน ปรับปรุงห้องเก็บยางพาราดูดความชื้นด้วยระบบโซล่าเซลล์ สามารถเพิ่มพื้นที่ในการจัดเก็บยาง ได้ตามมาตรฐาน GMP ลดผลกระทบต่อคุณภาพยาง และสามารถรองรับการจัดเก็บยางได้เป็นระยะเวลานานเพื่อชะลอขายยางได้ที่ปริมาณยาง 100 ตัน/ครั้ง
ซึ่งสหกรณ์ผลิตยางแผ่นรมควัน ปริมาณ 2,500 กก./วัน มูลค่า 52,973,257.37 บาท/ปี กำไร 1,690,955.63 บาท/ปี ผลิตยางอัดก้อน ปริมาณ 10,000 กก./วัน มูลค่า 117,611,214.98 บาท/ปี กำไร 313,142.32 บาท/ปี
ในส่วนปี 2565 งบประมาณเพื่อให้กู้ยืมและงบอุดหนุน จำนวน 880,000,000 บาท มีเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง ผ่านเกณฑ์เข้าร่วมโครงการจำนวน 774 ราย แบ่งเป็น เงินกู้ยืม จำนวน 61 ราย งบประมาณจำนวน 67,903,000
บาท และเงินอุดหนุน 713 ราย งบประมาณจำนวน 107,343,772.07 บาท งบประมาณรวมทั้งสิ้น 175,246,772.07 บาท
ขณะนี้ กยท. ดำเนินการปรับปรุงระเบียบการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนายางพาราตามมาตร 49(3) พ.ศ. 2562 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 เพื่อให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด มีความถูกต้อง
เป็นไปตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่จะทำการแก้ไข เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาเงินกู้ยืม และเงินอุดหนุนเพิ่มเติม หลักเกณฑ์การมีส่วนร่วมในการลงทุนของเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร การปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และ
ดอกเบี้ยค่าปรับกรณีค้างชำระ การเพิ่มวงเงินและอำนาจการอนุมัติเงินกู้ยืมและวงเงินอุดหนุน รูปแบบการให้เงินอุดหนุน แนวทางการเบิกจ่ายเงิน การตรวจสอบ การติดตามประเมินผล การรายงานผลดำเนินการ และระยะเวลาการให้กู้ยืมเงินและเงินอุดหนุน คาดว่า
จะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือน สิงหาคม 2565 ผอ.ฝ่ายพัฒนาฯ กล่าวทิ้งท้า