กรมชลประทาน เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำพื้นที่ภาคใต้อย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ รับมือฝนตกหนักตาม 13 มาตรการรองรับฤดูฝนปี 65 ป้องกันและบรรเทาปัญหาที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมากตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ได้รับผลกระทบ อาทิ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่น้ำท่วม 1 อำเภอ ได้แก่ ต.เกาะทวด อ.ปากพนัง เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำปลายน้ำที่รับน้ำจากคลองเสาธงก่อนระบายน้ำออกสู่ทะเล ประกอบกับมีสถานการณ์น้ำทะเลหนุน จึงทำให้การระบายน้ำทำได้ช้า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปากพนังล่าง ได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 18 เครื่อง เครื่องสูบน้ำระบบ Hydroflow จำนวน 2 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีกจำนวน 4 เครื่อง บริเวณพื้นที่ ต.คลองน้อย อ.ปากพนัง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบ Hydroflow จำนวน 2 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 4 เครื่อง ที่บริเวณประตูระบายน้ำบางไทร พร้อมควบคุมการเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำ ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด ปัจจุบันสถานการณ์น้ำมีแนวโน้มลดลง คาดว่าหากไม่มีปริมาณฝนตกลงมาเพิ่ม จะสามารถควบคุมสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติในเร็ววัน
ด้านจังหวัดปัตตานี ฝนตกหนักมากทำให้ระดับน้ำในลำน้ำสายหลักต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง และ อ.มายอ โครงการชลประทานปัตตานี ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่บริเวณโรงพยาบาลหนองจิก จำนวน 2 เครื่อง และที่โรงพยาบาลโคกโพธิ์ อีกจำนวน 1 เครื่อง เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลากที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนปัตตานีอย่างใกล้ชิดด้วย
ส่วนที่จังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่น้ำท่วม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองนราธิวาส อ.ระแงะ อ.บาเจาะ และ อ.รือเสาะ โครงการชลประทานนราธิวาส ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่จำนวน 22 เครื่อง เครื่องสูบน้ำระบบ Hydro Flowจำนวน 6 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีกจำนวน 4 เครื่อง ที่บริเวณประตูระบายน้ำปิเหล็ง 1 อ.เจาะไอร้อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนดอย่างเคร่งครัด ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนได้มากที่สุด
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ ในช่วงวันที่ 12 – 16 ธ.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิลดลงกับมีลมแรง โดยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิจะลดลง 4 – 6 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลง 3 – 5 องศาเซลเซียส
ส่วนในวันที่ 17 ธ.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวต่อเนื่องกับมีลมแรง
อนึ่ง หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศมาเลเซียจะเคลื่อนลงสู่ช่องแคบมะละกา และทะเลอันดามันตอนล่าง ในช่วงวันที่ 11 – 12 ธ.ค. 2565 ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางและลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตลอดช่วง
ข้อควรระวัง
ในช่วงวันที่ 11 – 12 ธ.ค. 2565 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย และในช่วงวันที่ 12 – 17 ธ.ค. 2565 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลง สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง